ปัญหา ปัสสาวะเล็ด แม้ดูไม่ใช่เรื่องอันตรายแต่ก็เป็นเรื่องไม่เล็กเลยสำหรับผู้หญิง เพราะนอกจากสร้างความไม่มั่นใจให้แล้วก็ยังพ่วงมาด้วยความรำคาญได้ เนื่องจากปัสสาวะเล็ดเป็นปัญหาที่ไม่สามารถควบคุมได้ง่าย ๆ เท่าไหร่นัก เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็มักจะเป็นอยู่เสมอ ๆ จนสร้างความกวนใจ
ปัสสาวะเล็ด คืออะไร
หลาย ๆ คนคงจะรู้จักและเข้าใจมาบ้างว่าการที่ปัสสาวะเล็ดออกมาได้นั้นเป็นเรื่องสุดวิสัยจริง ๆ เช่นเมื่อไอ จาม หัวเราะ หรือออกกำลังกายในบางท่า แต่อาการปัสสาวะเล็ดนี้มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการอีกชื่อหนึ่งว่าอาการช้ำรั่ว ภาษาอังกฤษคือ Urinary Incontinence เป็นภาวะที่สามารถเกิดได้กับทุกเพศไม่เฉพาะผู้หญิงเท่านั้น เนื่องจากระบบประสาทผิดปกติ หรือกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ และอุ้งเชิงกรานอ่อนแอ ซึ่งปัญหานี้เกิดขึ้นได้แม้ว่าจะอายุเพียง 30 ปี เพียงแต่ระดับความรุนแรงจะต่างกันออกไป
สาเหตุที่ทำให้มีอาการปัสสาวะเล็ด
แม้ว่าการปัสสาวะเล็ดจะเกิดขึ้นได้เพราะเหตุสุดวิสัย เช่น ไอ จาม หัวเราะ เป็นต้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการจะมีอาการปัสสาวะเล็ดได้ก็มาจากพฤติกรรมบางอย่างหรือแม้แต่โรคบางโรค ซึ่งโรคที่ไม่ได้เกิดจากกรรมพันธุ์ก็เกิดขึ้นได้เพราะพฤติกรรมเช่นเดียวกัน สำหรับสาเหตุที่ทำให้มีอาการปัสสาวะเล็ดได้ง่ายก็มาจากปัจจัยเสี่ยง 7 อย่างดังนี้
1.สูบบุหรี่จัด
เนื่องจากสารต่าง ๆ ในควันบุหรี่สามารถดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ และร่างกายก็ยังขับออกผ่านทางกระเพาะปัสสาวะอีก เมื่อสูบบุหรี่จัด ๆ หรือสูบบุหรี่มาเป็นระยะเวลานาน ๆ ครั้นอายุประมาณ 30 ปีเป็นต้นไปก็จะเริ่มสังเกตได้ว่ามีปัญหาปัสสาวะเล็ดตามมา อีกทั้งสารก่อมะเร็งจากบุหรี่ก็ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งกระเพาะปัสสาวะได้อีกด้วย ฉะนั้นหากสาว ๆ ไม่อยากมีภาวะปัสสาวะเล็ดหรือกลั้นปัสสาวะไม่อยู่จึงควรงดสูบบุหรี่หรือหาวิธีเลิกให้ได้ในที่สุด
2.ดื่มชา กาแฟ และน้ำอัดลมบ่อย ๆ
เครื่องดื่มเหล่านี้มีสารกระตุ้นทำให้เกิดการปัสสาวะบ่อย ๆ รวมถึงโกโก้ด้วยเช่นกัน เพราะเป็นเครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีนที่ออกฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ คุณผู้หญิงที่ติดเครื่องดื่มต่าง ๆ ตามที่กล่าวมานี้จึงควรจะบริโภคให้น้อยลง
3.มีน้ำหนักตัวมากเกินไป หรือมีปัญหาโรคอ้วน
ผู้ที่มีไขมันส่วนเกินในร่างกายจะทำให้ไขมันเข้าไปกดทับบริเวณท้องน้อยจนเพิ่มแรงกดทับลงบนกระเพาะปัสสาวะ เป็นสาเหตุให้กระเพาะปัสสาวะมีการบีบตัวจนน้ำปัสสาวะไหลหรือเล็ดออกมาได้
4.ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
สำหรับผู้หญิงที่ประจำเดือนหมดจะมีปัญหาปัสสาวะเล็ดมากกว่าผู้หญิงทั่ว ๆ ไป เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงจึงทำให้เยื่อบุในกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะเสื่อมสภาพตามลงไปด้วย
5.อายุมากขึ้น
อายุที่มากขึ้นเรื่อย ๆ มีผลโดยตรงต่อการกลั้นปัสสาวะ เพราะระบบต่าง ๆ ในร่างกายมีความเปลี่ยนแปลง เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงทำให้เยื่อบุช่องคลอดฝ่อตัวและแห้งจนเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้ปัสสาวะเล็ด
6.มีโรคประจำตัว
โรคเบาหวาน โรคสมองเสื่อม โรคต่อมลูกหมากโต (ในผู้ชาย) ฯลฯ ส่งผลต่อการกลั้นปัสสาวะเป็นอย่างยิ่ง หากใครที่กำลังเป็นโรคเหล่านี้ไม่ว่าจะมีอายุเท่าไหร่ก็มีความเสี่ยงในการทำให้ปัสสาวะเล็ดได้ง่าย ๆ
7.ผู้ป่วยจากอุบัติเหตุ
การเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันในบริเวณที่กระทบต่อระบบประสาทจะทำให้ส่วนควบคุมกระเพาะปัสสาวะสูญเสีย การประสบอุบัติเหตุบริเวณไขสันหลัง หรือการมีภาวะหลอดเลือดสมองตีบตันก็ทำให้เกิดปัญหาปัสสาวะเล็ดได้ด้วยเช่นกัน
วิธีป้องกันและแก้อาการปัสสาวะเล็ด
1.ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ
นอกจากการงดเครื่องดื่มอย่างชา กาแฟ โกโก้ และน้ำอัดลมแล้ว สาวน้อยสาวใหญ่ที่มีปัญหาปัสสาวะเล็ดควรจะดื่มน้ำให้ได้ 6 - 8 แก้วต่อวัน เพื่อให้ร่างกายขับปัสสาวะออกมาให้ได้มากที่สุดอีกด้วย
2.ฝึกปัสสาวะ
การหมั่นปัสสาวะให้เป็นปกติโดยไม่พยายามกลั้นปัสสาวะจะทำให้ลดอัตราการปัสสาวะเล็ดลงได้
3.บริหารอุ้งเชิงกรานให้แข็งแรง
การบริหารอุ้งเชิงกรานทำได้ด้วยการฝึกขมิบกล้ามเนื้อรอบ ๆ ช่องคลอดอย่างสม่ำเสมอ โดยเริ่มจากขมิบค้างไว้ 5 วินาทีก่อน แล้วค่อย ๆ ปรับเพิ่มเป็น 15 วินาที หากคุณผู้หญิงมีอาการปัสสาวะเล็ดแบบไม่รุนแรงมากนักก็จะช่วยลดปัญหานี้ลงได้เรื่อย ๆ
4.ลดน้ำหนัก
อย่างที่ได้บอกในสาเหตุที่ทำให้มีอาการปัสสาวะเล็ดข้อที่ 3. ว่าการมีน้ำหนักตัวมากเกินไปหรือเป็นโรคอ้วนนั้นทำให้ประสบปัญหาปัสสาวะเล็ดได้ ดังนั้นสาว ๆ จึงต้องรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตลอดช่วงวัยต่าง ๆ ของชีวิต
5.งดสูบบุหรี่
การสูบบุหรี่ไม่ดีต่อสุขภาพไม่ว่าจะในด้านใดก็ตาม ทั้งยังตามมาด้วยโรคต่าง ๆ มากมายที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายทั้งภายในและภายนอก ดังนั้นจึงเป็นพฤติกรรมที่ควรเลี่ยงเป็นที่สุด
6.กินยา
หากอาการปัสสาวะเล็ดอยู่ในขั้นรุนแรงก็ควรจะปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณารับยามากิน และถ้ามีอาการหนักเกินกว่าจะใช้ยารักษาได้ก็อาจถึงขั้นผ่าตัดบริเวณท่อปัสสาวะไปเลย
หากสาว ๆ ไม่อยากเสี่ยงมี ปัสสาวะเล็ด ท่ามกลางที่สาธารณะก็ควรจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตั้งแต่ช่วงวัยที่ระบบต่าง ๆ ในร่างกายยังแข็งแรงดีอยู่ ต่อให้การปัสสาวะเล็ดจะเกิดขึ้นในวัยสูงอายุเป็นส่วนใหญ่แต่ก็สามารถระงับให้เกิดขึ้นน้อยลงหรือน้อยครั้งได้จากการดูแลสุขภาพตั้งแต่ยังเยาว์วัย
เครดิตรูปภาพทั้งหมด : https://pixabay.com/th/
อ่านบทความ สาเหตุของ ช็อกโกแลตซีสต์ ปวดท้องแบบไหนเสี่ยงเป็นมากที่สุด สาว ๆ ต้องอ่าน!
Credit : เด็ก, แบบบ้าน, แอลกอฮอล์, มอเตอร์ไซค์, เครื่องดนตรีสากล