ผู้หญิงส่วนมากต้องประสบปัญหาพบเจอกับอาการ ปวดท้องประจำเดือน แต่ส่วนใหญ่ต่างก็จะเคยได้ยินมาว่า เป็นประจำเดือนก็ต้องมาควบคู่มากับการปวดประจำเดือน จนคิดไปว่ามันเป็นเรื่องปกติ อย่างไรก็ตาม อาการปวดประจำเดือนเล็กน้อยแต่ปวดต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกของโรคร้ายได้เช่นเดียวกับอาการปวดประจำเดือนที่รุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต หากเป็นเช่นนั้น ควรปรีกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการต่อไป

ทำความรู้จักกับอาการ ปวดท้องประจำเดือน
ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่ประสบกับภาวะอาการปวดท้องก่อนมีประจำเดือน 1-2 วัน และในช่วงระหว่างมีประจำเดือนวันแรกๆ อาการปวดประจำเดือน (dysmenorrhea) มีอาการแตกต่างกันออกไป ทั้งอาการปวดหน่วงหรือปวดเกร็งเล็กน้อย ไปจนถึงอาการปวดแบบรุนแรงบริเวณท้องน้อย อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดหลังด้านล่าง คลื่นไส้อาเจียน เหงื่อออกมาก ท้องเสียหรือท้องผูก ท้องอืด เวียนศีรษะและปวดศีรษะ เป็นต้น
สาเหตุอาการปวดท้องประจำเดือน
ผู้หญิงทุกคนเมื่อถึงวันที่ไข่ตก ก็จะเริ่มมีประจำเดือน ซึ่งโดยเฉลี่ยในระยะเวลาประมาณ 28 วัน หากไข่ไม่ได้รับการผสมกับเชื้ออสุจิ เยื่อบุโพรงมดลูกจะหลุดลอกออก และกลายเป็นประจำเดือน อาการปวดประจำเดือนเกิดจากสารที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมน ชื่อว่า โพรสตาแกลนดิน (prostaglandin) ซึ่งก่อตัวขึ้นภายในเยื่อบุโพรงมดลูกระหว่างมีประจำเดือน โพรสตาแกลนดินทำให้กล้ามเนื้อมดลูกบีบตัวและหดเกร็งของมดลูก คล้ายคลึงกับอาการเจ็บท้องเมื่อถึงกำหนดคลอดบุตร นอกจากนี้ยังเป็นผลให้เกิดอาการคลื่นไส้ ท้องเสีย หากร่างกายหลั่งสารนี้ในปริมาณมาก อาการที่เป็นก็จะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น การบีบรัดในมดลูกที่รุนแรงขึ้นทำให้รู้สึกปวดประจำเดือนมากยิ่งขึ้น

ประเภทของอาการปวดท้องประจำเดือน
- ปวดประจำเดือนประเภทปฐมภูมิ (Primary Dysmenorrhea) เป็นอาการปวดประจำเดือนที่พบบ่อย
ที่สุด เกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกผลิตสารโพรสตาแกลนดินมากเกินไป ทำให้มดลูกบีบตัว
- ปวดประจำเดือนประเภททุติยภูมิ (Secondary Dysmenorrhea) เกิดจากความผิดปกติของมดลูกหรือ
อวัยวะสืบพันธุ์อื่นๆ เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (endometriosis) เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญนอกมดลูก ซึ่งแม้เยื่อบุโพรงมดลูกมีการเจริญผิดที่ แต่ยังสร้างประจำเดือนตามปกติ เป็นเหตุให้มีเลือดประจำเดือนในอุ้งเชิงกรานบริเวณที่มีเยื่อบุโพรวมดลูกไปเกาะในทุก ๆ รอบเดือน เป็นเหตุให้เกิดอาการปวดท้องน้อยอย่างรุนแรง อีกทั้งยังอาจเป็นสาเหตุให้มีบุตรยาก
เยื่อบุมดลูกเจริญภายในกล้ามเนื้อมดลูก (Adenomyosis) อาการนี้ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดประจำเดือนอย่างมาก และ/หรือ ทำให้ปริมาณเลือดประจำเดือนมามาก และมีระยะเวลการเป็นประจำเดือนยาวนานกว่าปกติ
เนื้องอกในมดลูก (uterine fibroids) ซึ่งเนื้องอกนี้ไม่ใช่เนื้อร้าย มีขนาดตั้งแต่เล็กมากไปจนถึงขนาดใหญ่ หากเนื้องอกมีขนาดใหญ่ จะทำให้มีเลือดประจำเดือนออกมาก หรือเลือดประจำเดือนไหลกระปริบกระปรอย มีนะยะนานเป็นสัปดาห์ พร้อมกับอาการปวดประจำเดือนหรือปวดหลังส่วนล่างแบบเรื้อรัง
ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic Inflammatory Disease) เป็นภาวะการติดเชื้อที่บริเวณระบบสืบพันธุ์ในเพศหญิง ส่วนใหญ่เกิดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาให้หายขาด จะทำให้เกิดการอักเสบชนิดเรื้อรังและปวดท้องระหว่างมีประจำเดือน

การป้องกันและบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือน
- ใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบท้องน้อยและหลัง และควรอาบน้ำอุ่น เพื่อให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย
- ผ่อนคลายจิตใจและร่างกาย โดยการทำโยคะ ออกกำลังกายเบา ๆ หรือการทำสมาธิ
- รับประทานยาต้านการอักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์ (NSAIDs) การรับประทานยา ควรเริ่มรับประทานเมื่อมีอาการปวดหรือก่อนมีอาการปวด การรับประทานยาแก้ปวดอาจมีผลข้างเคียง ดังนั้นไม่ควรใช้ยาพร่ำเพรื่อ หรือไม่ควรใช้ยาเมื่อมีอาการปวดบ่อยเกินไป
- พักผ่อนให้เพียงพอออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นการรับประทานผักและผลไม้ ลดปริมาณอาหารที่มีไขมัน เกลือ เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมคาเฟอีน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และขนมหวาน

ปวดท้องประจำเดือน เป็นเรื่องที่สาวๆต้องเจอกันทุกเดือน เพราะประจำเดือนเราต้องมาอยู่ทุกๆเดือน หากเราต้องทรมานอยู่กับอาการปวดประจำเดือนอยู่ตลอด คงไม่ใช่เรื่องที่น่าสนุกแน่ ดังนั้น หากเพื่อน ๆ มีอาการปวดประจำเดือนถี่ บ่อย และปวดมากผิดปกติ อย่าปล่อยไว้เนิ่นนานนะ ให้รีบไปปรึกษาแพทย์ได้เลย แต่หากอาการปวดประจำเดือนนั้นเกิดจากการที่เราพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือมีการออกแรงมากผิดปกติ ก็ควรพักผ่อนให้มาก ๆ อาการเหล่านั้นก็อาจจะหายไปได้เอง
อ่านบทความ 10 อาหารที่สาวๆ ควรเลี่ยง เพราะจะทำให้มีตกขาว
เครดิตรูปจาก www.pixabay.com