เรื่องที่น่ากังวลใจมาก ๆ สำหรับสาว ๆ ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องเกี่ยวกับ มะเร็งปากมดลูก เพราะเป็นโรคที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ และจะพบว่าผู้ป่วยรายใหม่เป็นมะเร็งปากมดลูกเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี อีกทั้งยังเป็นโรคที่พบในผู้หญิงไทยมากที่สุดอีกด้วย
มะเร็งปากมดลูก เกิดจากอะไร
ปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูกนั้นมีหลาย ๆ ปัจจัย แต่สาเหตุหลัก ๆ ก็มาจากไวรัส HPV (Human Papillomavirus) ที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิตผู้หญิงจะมีโอกาสติดเชื้อ HPV ซึ่งไวรัสตัวนี้จะใช้เวลาประมาณ 5 – 10 ปีในการเปลี่ยนเนื้อเยื่อปากมดลูกให้กลายเป็น มะเร็งปากมดลูก จึงทำให้พบว่าผู้หญิงวัย 30 – 55 ปีจะเป็นมะเร็งปากมดลูกมากกว่าวัยอื่น ๆ เนื่องจากเชื้อไวรัส HPV ค่อย ๆ เติบโตจากตอนที่มีเพศสัมพันธ์ในช่วงวัยรุ่น
แล้วการมีเพศสัมพันธ์แบบไหนที่ทำให้เสี่ยงรับเชื้อไวรัส HPV ?
คำตอบคือการเริ่มมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย ๆ, การเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ, ช่องคลอดฉีกขาดเนื่องจากมีบุตรมาแล้วหลายคนจนทำให้เชื้อไวรัสเล็ดลอดเข้าไปได้ง่าย, การที่อวัยวะเพศของสามีไม่สะอาด, ไม่รักษาสุขอนามัยของอวัยวะเพศ, มีการอักเสบหรือปากมดลูกมีแผลแล้วไม่ทำการรักษา
นอกจากนี้การสูบบุหรี่และดื่มสุราจัด ๆ ก็เสี่ยงทำให้เป็นมะเร็งปากมดลูกได้ง่ายขึ้นเช่นกัน เนื่องจากจะทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่องลงจนเกิดโรคได้ง่าย
สัญญาณเตือนภัย มะเร็งปากมดลูก
1.มีเลือดออกขณะมีเพศสัมพันธ์หรือหลังมีเพศสัมพันธ์
2.ประจำเดือนหมดแล้วแต่ยังมีเลือดออกกระปริดกระปรอยหรือมีเลือดออกยาวนาน
3.มีตกขาวหรือตกเหลืองที่ส่งกลิ่นเหม็นคาวคล้ายกลิ่นคาวปลา และบางรายยังมีอาการปวดท้องร่วมด้วย
4.เบื่ออาหาร ซูบ ผอม อ่อนเพลีย
การรักษาเมื่อเป็น มะเร็งปากมดลูก
มะเร็งปากมดลูกแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ระยะที่ 1 คือมะเร็งอยู่ที่ปากมดลูก ระยะที่ 2 คือมะเร็งลุกลามจากปากมดลูกไปบริเวณด้านข้าง ระยะที่ 3 คือมะเร็งลุกลามไปจนถึงอุ้งเชิงกราน ส่วนระยะสุดท้ายนั้นมะเร็งได้กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ การรักษามะเร็งปากมดลูกจึงเป็นการรักษาตามอาการความรุนแรงในแต่ระยะ ดังนี้
1.การผ่าตัด
เมื่อเป็นมะเร็งปากมดลูกในระยะแรกหรือระยะที่ 2 แพทย์มักจะแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัดปากมดลูก และในกรณีที่ผู้ป่วยต้องการเก็บปากมดลูกไว้เพราะอยากมีบุตรในอนาคตก็สามารถทำได้ ซึ่งก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียตามมา
2.การใช้รังสี
การรักษามะเร็งปากมดลูกด้วยรังสีจะเกิดขึ้นต่อเมื่อพบว่าผู้ป่วยมีโอกาสเสี่ยงกลับมาเป็นซ้ำได้อีก หรือผู้ป่วยที่ไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ เช่น เป็นโรคอ้วน แพ้ยาสลบ เป็นต้น ซึ่งจะมีการรักษาด้วยรังสี 2 ประเภทหลัก ๆ คือ การฉายรังสีระยะไกลและการฉายรังสีระยะใกล้ ทั้งนี้ทั้งนั้นการฉายรังสีก็มีข้อเสียทำให้เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนก่อนกำหนด หากอยากมีบุตรในอนาคตก็ต้องปรึกษาแพทย์อย่างละเอียด
3.การใช้เคมีบำบัด
การใช้วิธีนี้จะเป็นการทำลายเซลล์มะเร็ง มักจะเป็นการรักษาร่วมกับวิธีอื่น ๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้อย่างไร
เมื่อได้เห็นถึงวิธีการรักษาไปแล้วผู้หญิงทั้งหลายคงไม่มีใครอยากเป็นมะเร็งปากมดลูกอย่างแน่นอน เพราะนอกจากจะเจ็บตัว เสียค่ารักษาแพง ๆ แล้วก็ยังหมดโอกาสมีบุตรได้อีกด้วย ทางที่ดีจึงควรป้องกันไม่ให้โรคนี้เกิดขึ้นกับตัวจะดีกว่า ซึ่งอย่างที่ได้บอกไปว่ามะเร็งปากมดลูกเสี่ยงจากการมีเพศสัมพันธ์ ฉะนั้นจึงต้องระมัดระวังไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ ต้องรักษาความสะอาดทั้งอวัยวะเพศของฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย และควรเลี่ยงมีเพศสัมพันธ์ก่อนจะอายุ 15 ปี
นอกจากนี้ก็มีวิธีป้องกันฉบับการแพทย์นั่นก็คือการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV ซึ่งสามารถช่วยป้องกันสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงได้ถึงร้อยละ 70 โดยต้องฉีดวัคซีน 3 ครั้งภายในระยะเวลา 6 เดือน ผู้หญิงที่สามารถฉีดวัคซีนป้องกันได้คือผู้หญิงที่อายุตั้งแต่ 9 – 26 ปี หากฉีดก่อนจะมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกได้ก็จะยิ่งช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ดีมากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ควรจะหมั่นตรวจภายในเพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ เพราะวัคซีนสามารถป้องกันเชื้อไวรัส HPV ได้บางชนิดเท่านั้น แม้จะป้องกันสายพันธุ์หลัก ๆ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่สามารถติดเชื้อสายพันธุ์ย่อย ๆ อื่น ๆ ได้
เมื่อมะเร็งปากมดลูกน่ากลัวขนาดนี้ผู้หญิงอย่างเรา ๆ ก็ควรจะหันมาดูแลตัวเองให้มากขึ้น การรู้จักป้องกันตัวเองเอาไว้ด้วยการฉีดวัคซีนหรือรักษาสุขอนามัยเป็นอย่างดีก็จะลดความเสี่ยงไม่ให้เกิดโรคขึ้นได้ และที่สำคัญอย่าลืมไปตรวจภายในทุก ๆ ปี เพราะยิ่งเจอโรคไวก็จะยิ่งรักษาได้ไวและง่ายขึ้นนั่นเอง
อ่านบทความ ผ้าอนามัยแบบสอด มือใหม่หัดใช้มารู้ข้อดีข้อเสียกันหน่อย
เครดิตรูปภาพทั้งหมด : www.pixabay.com