ฝังยาคุม เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกสำหรับผู้หญิงทุกคน ที่อยากจะทำการคุมกำเนิด แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเมื่อเราทำไปแล้ว จะเกิดผลอย่างไรบ้าง สำหรับวัยเจริญพันธุ์หรือคู่รักที่แต่งงานแล้วแต่ยังไม่ต้องการมีบุตรก็มีวิธีป้องกันการตั้งครรถ์ที่หลากหลายกันไป โดยส่วนใหญ่อาจจะเลือกกินยาคุมกำเนิด แต่อีกวิธีที่เป็นที่นิยมไม่แพ้กันก็คือการฝังยาคุม แล้วการฝังยาคุมนั้นจะมีผลอะไรตามมาบ้างเลื่อนอ่านได้เลย
การฝังยาคุมกำเนิดคืออะไร…
ฝังยาคุม เป็นการคุมกำเนิดแบบชั่วคราว โดยจะนำหลอดที่บรรจุฮอร์โมนโปรเจสตินแท่งเล็ก ๆ ยาว ๆ ประมาณ 3 เซนติเมตรฝังเข้าไปใต้ผิวหนังบริเวณท้องแขนของแขนท่อนบน ซึ่งขั้นตอนนี้แพทย์จะเป็นผู้ช่วยจัดการให้ทั้งหมด โดยยาสำหรับใช้ฝังคุมกำเนิดที่นิยมใช้ในปัจจุบันมีทั้งหมด 2 ชนิดด้วยกัน ได้แก่ Implanon® ชนิดฝัง 1 แท่ง กับ Jadelle® ชนิดฝัง 2 แท่ง
แล้วยาคุมกำเนิดทำงานอย่างไร ?
ในตัวยาคุมกำเนิดจะมีฮอร์โมนโปรเจสติน เมื่อฝังหลอดบรรจุฮอร์โมนตัวนี้เข้าไปในตำแหน่งที่เหมาะสมแล้ว ฮอร์โมนโปรเจสตินจะค่อย ๆ ซึมออกจากหลอดเข้าสู่กระแสเลือด ไปกดการทำงานของไฮโปทาลามัสและต่อมใต้สมอง เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของฟองไข่ ส่งผลให้ไม่เกิดการตกไข่นั่นเอง และเมื่อไม่มีไข่ที่จะปฏิสนธิกับเชื้ออสุจิจึงทำให้ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ ฮอร์โมนโปรเจสตินที่ปล่อยออกมาก็จะทำให้เมือกที่ปากมดลูกเหนียวข้น มีปริมาณน้อย และทำให้อสุจิว่ายผ่านเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ได้ยาก นอกจากนี้ก็ยังทำให้เยื่อบุผนังมดลูกบาง จึงไม่เหมาะสมสำหรับการฝังตัวของตัวอ่อน ทำให้ไข่ที่ถูกผสมแล้วไม่สามารถเกาะที่ผนังมดลูกได้ดีเท่าที่ควร ด้วยเหตุนี้การฝังยาคุมจึงเป็นการช่วยลดโอกาสการเกิดการผสมกับไข่ได้อีกทางหนึ่ง
ใครไม่ควรฝังยาคุมบ้าง
โดยทั่วไปแล้วการฝังยาคุมสามารถทำได้กับผู้หญิงทุก ๆ คน แม้แต่ผู้หญิงที่เป็นเบาหวาน เป็นโรคอ้วน หรือเป็นโรคความดันโลหิตสูงก็ตาม แต่ทางที่ดีควรจะปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจทำการฝังนาคุม เพื่อความแน่นอนว่าจะไม่เป็นอันตรายแทรกซ้อน
แต่การฝังยาคุมก็ใช่ว่าจะทำได้กับทุกคนโดยไม่มีข้อยกเว้นใด ๆ เพราะบางรายอาจจะมีอาการแพ้ยาคุมกำเนิด และผู้หญิงที่มีความเสี่ยงดังต่อไปนี้ก็ยังไม่ควรตัดสินใจ ฝังยาคุม
-เป็นมะเร็งหรือเคยเป็นมะเร็งมาก่อน เพราะจะเป็นการกระตุ้นเซลล์มะเร็งให้ลุกลามได้
-หากมีความผิดปกติเกี่ยวกับการทำงานของตับก็ยังไม่ควรฝังยาคุมเช่นกัน เพราะผลข้างเคียงของการฝังยาคุมอาจทำให้ตับอักเสบเพิ่มเติมได้
-ผู้หญิงที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบไหลเวียนเลือดยังไม่ควรฝังยาคุมอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะมีภาวะเลือดออกง่ายแต่หยุดยาก เลือดออกจากช่องคลอดหรือเลือดประจำเดือนออกแบบผิดปกติ หรือเป็นผู้ป่วยโรคหลอดเลือดแดง ฯลฯ ก็ไม่แนะนำให้ตัดสินใจคุมกำเนิดด้วยการฝังยาคุม
-ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์
ข้อดีของการฝังยาคุมกำเนิด
-มีประสิทธิภาพสูง และมีอัตราการล้มเหลวต่ำ
-สะดวก รวดเร็ว ทำครั้งเดียวสามารถคุมกำเนิดได้หลายปี
-ประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าเมื่อเทียบกับระยะเวลาที่สามารถคุมกำเนิดได้
-มีผลข้างเคียงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เช่น อาเจียน วิงเวียนศีรษะ
-ไม่รบกวนการมีเพศสัมพันธ์ เพราะเมื่อฝังยาคุมแล้วไม่ต้องใช้วิธีคุมกำเนิดแบบอื่น ๆ ได้อีก 3 – 5 ปี
-ลดอาการปวดประจำเดือนลง
-หากเพิ่งคลอดบุตรและต้องให้นมบุตรก็สามารถฝังยาคุมกำเนิดได้
-และที่สำคัญหากต้องการหยุดใช้เพราะต้องการมีบุตรก็สามารถให้แพทย์ถอดยาคุมที่ฝังไว้ออกได้ในทันที ทั้งยังสามารถมีบุตรได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย
ข้อเสียของการฝังยาคุมกำเนิด
-ในช่วงปีแรกอาจทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ
-ไม่สามารถช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้หากไม่ได้สวมถุงยางอนามัย
-เกิดอาการเจ็บ คัน ระคายผิว รู้สึกปวด หรือมีแผลบริเวณผิวหนังที่ฝังยาคุม
-หากฝังยาคุมไม่ถูกวิธีจะเป็นอันตรายต่อหลอดเลือดและเส้นประสาทได้
-ไม่สามารถทำการฝังหรือถอดยาคุมออกด้วยตัวเองได้ ต้องให้แพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเป็นผู้จัดการให้เท่านั้น
หวังว่าสาว ๆ ที่กำลังชั่งใจว่าจะเลือกคุมกำเนิดด้วยวิธีไหนดีจะสามารถนำไปเปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย และผลข้างเคียงของแต่ละวิธีการคุมกำเนิดได้ ซึ่งการเลือกฝังยาคุมก็ไม่ได้ร้ายแรงแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องทำและได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเท่านั้น
อ่านบทความ ปวดท้องน้อย อาการที่สาว ๆ ควรรู้ทันสาเหตุเอาไว้
เครดิตรูปภาพทั้งหมด : www.pixabay.com