ผ้าอนามัยแบบสอด กำลังเป็นที่สนใจสำหรับสาวๆมากขึ้น สาว ๆ ที่เป็นประจำเดือนและกำลังมองหาทางเลือกนอกเหนือจากผ้าอนามัยแบบแผ่นแล้วละก็ ผ้าอนามัยแบบสอด ก็เป็นที่นิยมไม่แพ้กรวยอนามัยเลย และเป็นที่รู้จักก่อนจะมีกรวยอนามัยเกิดขึ้นเสียอีก แต่ก่อนที่สาว ๆ น้อยใหญ่จะเลือกใช้ผ้าอนามัยแบบสอดก็ควรได้รับรู้ในด้านดีและไม่ดีเพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนดีกว่า
ลักษณะของ ผ้าอนามัยแบบสอด
ผ้าอนามัยแบบสอด มีลักษณะเป็นแท่งคล้ายแท่งสำลีอัดแข็ง โดยมีเชือกขนาดไม่ยาวมากนักติดอยู่ที่ส่วนปลายเพื่อให้สะดวกต่อการดึงออก ซึ่งสาว ๆ จะต้องสอดผ้าอนามัยชนิดนี้เข้าไปภายในช่องคลอดเพื่อซับเลือด หากต้องการนำออกมาก็ให้ดึงปลายเชือกที่ติดไว้ใช้งาน ซึ่งผ้าอนามัยแบบสอดนั้นใส่ไม่ยากอย่างที่คิด เนื่องจากผู้ผลิตจะใส่แท่งพลาสติกขนาดเล็กไว้ในบรรจุภัณฑ์เพื่อใช้ดันผ้าอนามัยเข้าไปในช่องคลอดเอาไว้แล้ว และยังมีหลายขนาดให้เลือก ทั้งชนิดหนาหรือบางตามปริมาณประจำเดือนของแต่ละคน
ข้อดีของผ้าอนามัยแบบสอด
1.ให้ประสิทธิภาพที่ดีกว่าหากต้องเล่นกีฬาหรือกิจกรรมกลางแจ้ง เพราะผ้าอนามัยแบบสอดให้ความรู้สึกที่คล่องตัว ไม่อึดอัดเหมือนการใช้ผ้าอนามัยแบบแผ่น
2.สามารถใช้ขณะอยู่ในน้ำได้ หากต้องลงน้ำหรือว่ายน้ำขณะมีประจำเดือนผ้าอนามัยแบบสอดจะช่วยดูดซับเลือดประจำเดือนได้ดีกว่าแบบแผ่น แต่อย่างไรก็ควรรีบเปลี่ยนเมื่อขึ้นจากน้ำ เนื่องจากผ้าอนามัยแบบสอดไม่ได้มีคุณสมบัติกันน้ำ
3.สะดวกต่อการพกพาเนื่องจากมีขนาดเล็กกว่าผ้าอนามัยชนิดแผ่น
4.ลดอาการแพ้ผ้าอนามัยแบบแผ่น
ข้อเสียของผ้าอนามัยแบบสอด
1. อาจก่อให้เกิดการเกร็งของช่องคลอดหรือเยื่อพรมจรรย์ฉีกขาดได้
2.เสี่ยงต่อการติดเชื้อรุนแรง และก่อให้เกิดกลุ่มอาการท็อกซิกช็อก (Toxic Shock syndrome: TSS) ที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่งกลุ่มอาการท็อกซิกช็อกหรือที่รู้จักกันในอีกชื่อว่าการติดเชื้อในกระแสเลือดนี้เป็นผลข้างเคียงที่อันตรายที่สุดในการใช้ผ้าอนามัยแบบสอด แม้จะเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้น้อยมากแต่ก็อาจถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ เนื่องจากพิษของเชื้อแบคทีเรียสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) กลุ่มเอที่มีความรุนแรง โดยเฉพาะในผู้ที่ใช้ผ้าอนามัยแบบสอดชนิดซึมซับได้ดีเป็นพิเศษ เนื่องจากจะทำให้ระยะห่างของการเปลี่ยนผ้าอนามัยยาวขึ้น จนก่อให้ความเสี่ยงในการติดเชื้อและกระจายเข้าสู่กระแสเลือดได้ในที่สุด ซึ่งพิษจากการติดเชื้อดังกล่าวจะส่งผลให้มีอาการดังต่อไปนี้
-ไข้สูงเฉียบพลัน
-ความดันโลหิตต่ำ
-ท้องเสีย
-อาเจียนอย่างรุนแรง
-มีผื่นคล้ายถูกแดดเผาขึ้นบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า
-ปวดศีรษะ
-มีอาการมึนงง
-ปวดกล้ามเนื้อ
-ตา ปาก และคอแดงผิดปกติ
-มีอาการชัก
ทั้งนี้ทั้งนั้นอาการของภาวะดังที่ได้กล่าวไปจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหากไม่รีบรักษาอย่างเร่งด่วน และจะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้อีก เช่น ช็อก ไตวาย ในกรณีที่รุนแรงที่สุดอาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิต ทางที่ดีที่สุดหากสาว ๆ พบว่าตัวเองมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งที่เข้าข่ายต้องสงสัยว่าจะเกิดกลุ่มอาการท็อกซิกช็อกควรจะหยุดใช้ผ้าอนามัยแบบสอด และรีบไปพบแพทย์ทันทีเท่าที่ทำได้ และจะต้องรักษาตามอาการจนกว่าจะหายเป็นปกติ
ควรใช้ผ้าอนามัยแบบสอดอย่างไรให้ปลอดภัย
แม้จะมีข้อเสียที่เกิดจากการใช้ผ้าอนามัยแบบสอดแต่ก็ยังเป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้น้อยมาก ๆ หากรู้วิธีใช้ที่ถูกต้องก็จะช่วยทำให้ปลอดภัยได้มากขึ้นอีก ซึ่งสาว ๆ ทั้งหลายที่ตัดสินใจหันมาใช้ผ้าอนามัยแบบสอดก็ควรปฏิบัติดังต่อไปนี้
-เปลี่ยนผ้าอนามัยแบบสอดบ่อย ๆ ทุก ๆ 4 ชั่วโมง
-หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าอนามัยแบบสอดที่ดูดซึมได้มากเป็นพิเศษเพราะอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่า
-เมื่อแกะผ้าอนามัยออกจากห่อแล้วควรรีบใช้ทันที
-ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนหรือหลังใส่ผ้าอนามัยแบบสอด
-ค่อย ๆ ใส่และถอดผ้าอนามัยแบบสอดอย่างเบามือ
-หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ช่วยใส่ผ้าอนามัยหากไม่จำเป็น
-ดูแลและรักษาความสะอาดอวัยวะเพศให้มากขึ้นในช่วงที่มีประจำเดือน
-ห้ามใส่ผ้าอนามัยแบบสอดเมื่อไม่ได้อยู่ในช่วงมีประจำเดือน
-หากประจำเดือนมาน้อยหรืออยู่ในช่วงประจำเดือนใกล้หมดควรเปลี่ยนมาใช้ผ้าอนามัยชนิดแผ่นแทนแบบสอด แต่หากจำเป็นต้องใช้ก็ควรใช้เจลหล่อลื่นช่วยเพื่อป้องกันการระคายเคือง
ผ้าอนามัยแบบสอด นั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งก็ไม่ต่างจากการใช้ผ้าอนามัยแบบแผ่นที่ก็มีข้อดีและข้อเสียเช่นกันหากใช้ไม่ถูกสุขลักษณะ อย่างไรก็ตามการตัดสินใจเลือกผ้าอนามัยนั้นเป็นสิทธิและเสรีภาพของผู้ใช้ที่ต้องคำนึงถึงความจำเป็นและผลด้วยตัวเอง หากเป็นมือใหม่ที่อยากเข้าวงการผ้าอนามัยแบบสอดจะลองใช้สักครั้งในชีวิตก็ไม่เสียหาย
อ่านบทความ แพ้ผ้าอนามัย 8 วิธีดูแลน้องสาวแสบคันเมื่อมีอาการ
เครดิตรูปภาพทั้งหมด : www.pixabay.com