ซีสต์คือถุงน้ำ ดังนั้น ไม่ว่าอะไรก็ตามที่มีเปลือกและมีน้ำหรือมีของเหลวอยู่ภายในจะเรียกว่า “ซีสต์” เหมือนกันทั้งหมด ซึ่งทุก ๆ อวัยวะในร่างกายของคนเราจะมีโอกาสเกิดซีสต์ได้ทั้งสิ้น แต่สำหรับ ซีสต์ในรังไข่ ที่ผู้หญิงหลาย ๆ คนเป็นกังวลนั้นจะเกิดขึ้นได้บ่อยๆ เมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ แต่เมื่อโตแล้วจะยุบหายไปตามรอบเดือนซึ่งเกิดจากการตกไข่ตามปกติ
ประเภทของ ซีสต์ในรังไข่
สาว ๆ จำเป็นต้องรู้กันเอาไว้ก่อนว่าถุงน้ำหรือซีสต์ในรังไข่แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1.Functional Cyst
ซีสต์รังไข่ที่เกิดจากการทำงานตามปกติของรังไข่ เพื่อใช้ในการสร้างเซลล์สืบพันธุ์ของผู้หญิง เมื่อซีสต์หรือถุงน้ำโตขึ้นแล้วแตกจะทำให้ไข่ไหลออกมา แล้วถุงน้ำนี้จะค่อย ๆ ยุบตัวลง จัดเป็นซีสต์ที่ไม่มีความอันตรายใด ๆ ให้น่ากังวล
2.Ovarian Cyst หรือ Ovarian Tumor
สำหรับซีสต์ในรังไข่ประเภทที่ 2 นี้เป็นเนื้องอกที่ถุงน้ำรังไข่ ไม่ใช่เนื้อร้ายแต่อย่างใด เป็นซีสต์ชนิดไม่ร้ายแรงเช่นเดียวกันกับประเภทที่ 1 โดยจะมีลักษณะเฉพาะที่สามารถนำไปอัลตราซาวนด์วินิจฉัยได้ว่าเป็นซีสต์ชนิดใด โดยที่ภายในถุงน้ำมักจะมีน้ำ ไขมัน เส้นผม กระดูก และฟันอยู่ภายในนั้น
3.Chocolate Cyst หรือ Tumor Like Condition
ซีสต์ชนิดนี้เป็นถุงน้ำที่เกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ มีสาเหตุมาจากถุงน้ำรังไข่มีของเหลวอยู่ข้างใน ทำให้ซีสต์ตกไข่ผิดปกติจนมีของเหลวลักษณะคล้ายเลือดแต่มีสีน้ำตาลคั่งในรังไข่มากกว่าปกติ
สัญญาณเตือนโรคซีสต์ในรังไข่
สำหรับสาว ๆ ที่ต้องการตรวจเช็กว่าตนเองกำลังเป็นโรคซีสต์ในรังไข่หรือไม่ สามารถสังเกตอาการได้ดังต่อไปนี้
-ปวดหน่วง ๆ บริเวณท้องน้อย โดยเฉพาะเวลาที่มีรอบเดือน แต่ก็จัดเป็นอาการที่สังเกตได้ไม่แน่ชัด เพราะอาจเกิดจากการปวดท้องประจำเดือนปกติตามประสาผู้หญิงเท่านั้น
-ผู้หญิงบางคนอาจจะปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น
-การมีรอบเดือนที่ผิดปกติ เช่น มาน้อย-มากกว่าเดิม ปวดรอบเดือนมาก ๆ ฯลฯ ก็อาจเป็นสัญญาณเตือนซีสต์ในรังไข่ได้
-คลำพบก้อนบริเวณท้องน้อย
-บางรายก็อาจไม่มีอาการใด ๆ เลย แต่จะรู้สึกได้ว่าท้องน้อยโตคล้ายคนอ้วนลงพุง จึงสังเกตได้ยากว่ามีซีสต์ในรังไข่หรือไม่
สาว ๆ จะเห็นได้ว่าโรคซีสต์ในรังไข่มักจะไม่ค่อยแสดงอาการที่เป็นสัญญาณอย่างชัดเจนเท่าไรนัก ทางที่ดีที่สุดคือสาว ๆ ควรจะตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีเพื่อความสบายใจไร้กังวล
การรักษาซีสต์ในรังไข่
ผู้ที่จะพบว่าตนเองเป็นซีสต์ในรังไข่ก็ต่อเมื่อเข้าตรวจสุขภาพกับทางโรงพยาบาล ดังนั้นการดูแลรักษาจึงเป็นเรื่องที่คุณหมอต้องให้คำแนะนำและตามติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งรายละเอียดในการรักษามักจะมีดังนี้
1.ติดตามดูอาการเบื้องต้นว่าซีสต์ในรังไข่จะยุบตัวลงเองหรือไม่
2.คุณหมออาจจะพิจารณาให้ยาคุมกำเนิดสำหรับบางคนไว้ทานหรือฉีดสักระยะ แล้วหลังจากนั้นจึงตรวจสอบอาการอีกครั้งว่าควรเข้ารับการผ่าตัดหรือไม่
3.เมื่อคุณหมอได้พิจารณาแล้วว่าต้องเข้ารับการผ่าตัดก็จะทำการวางแผนการรักษาว่าต้องผ่าตัดอย่างไร เป็นแบบฉุกเฉินไหม หรือไม่ใช่กรณีฉุกเฉิน ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดจะอยู่ในกระบวนการของทางแพทย์ จากนั้นผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำถึงวิธีปฎิบัติตัวหลังเข้ารับการผ่าตัดอีกรอบหนึ่ง
วิธีป้องกันไม่ให้เกิดซีสต์ในรังไข่
สำหรับวิธีดูแลตัวเองของสาว ๆ ให้มีสุขภาพที่ดี ลดโอกาสเป็นซีสต์ในรังไข่ให้น้อยลงที่สุด ก็คือการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ร่างกายแข็งแรง เลือกอาหารที่กินแล้วดีมีประโยชน์ ดูแลน้ำหนักตัวเองให้ได้มาตรฐาน ไม่อ้วนเกินหรือผอมไป เพราะจะช่วยให้ร่างกายของคุณผู้หญิงสร้างฮอร์โมนได้อย่างสมดุล
จากข้อมูลมั้งหมดพอจะสรุปได้ว่า ซีสต์ในรังไข่ เป็นโรคที่แทบจะไม่มีการแสดงอาการใด ๆ ชัดเจนเลย จะตรวจพบก็ต่อเมื่อไปตรวจสุขภาพโดยตรงเท่านั้น และวิธีรักษาให้ซีสต์ในรังไข่หายไปก็คือการผ่าตัดโดยตรง เรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวลเพราะนอกจากจะไม่แสดงอาการแล้วก็ต้องทำการผ่าตัดอีก สาว ๆ ที่ไม่อยากเสี่ยงเป็นซีสต์ในรังไข่จึงควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงสม่ำเสมอ จะได้ไม่ต้องกังวลกับโรคร้ายที่อยู่ใกล้ ๆ ตัว
อ่านบทความ “ฝีในอวัยวะเพศ” อันตรายสำหรับผู้หญิง มีสาเหตุมาจากอะไร