โรคไส้เลื่อนสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งกับผู้ชายและผู้หญิง แม้บางรายอาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดเพราะมีอาการไม่รุนแรงมาก แต่ถ้าหากปล่อยไว้เรื่อย ๆ โดยไม่รีบรักษาก็มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูงมาก ซึ่ง โรคไส้เลื่อน อันตรายไหม และอันตรายจากสาเหตุอะไรบ้างนั้นมาอ่านกันเลย
ไส้เลื่อนเกิดจากอะไร
ก่อนจะรู้กันว่าโรคไส้เลื่อนอันตรายไหม คุณผู้อ่านจะต้องมารู้กันก่อนว่าโรคไส้เลื่อนเกิดขึ้นได้จากอะไร
“ไส้เลื่อน” เกิดจากความผิดปกติของผนังช่องท้องที่อ่อนแรงมาตั้งแต่เกิด หรือเกิดจากการที่ผู้ป่วยเคยได้รับการผ่าตัดจนทำให้ผนังช่องท้องบริเวณนั้นอ่อนแอ และยังเป็นภาวะที่เกิดจากลำไส้เล็กเลื่อนออกมาจากผนังกล้ามเนื้อหน้าท้องที่บอบบาง ซึ่งเกิดได้จากหลาย ๆ สาเหตุที่ทำให้แรงดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการยกของหรือออกกำลังกายหนัก ๆ ต้องใช้แรงเยอะ ๆ แรงเบ่งขณะปัสสาวะจากโรคต่อมลูกหมากโต ไอเรื้อรังจากการสูบบุหรี่ เป็นต้น
โรคไส้เลื่อน อันตรายไหม
หลาย ๆ คนเคยเข้าใจว่าไส้เลื่อนไม่มีความอันตราย เป็นเพียงโรคที่ทำให้อวัยวะภายในเกิดการเคลื่อนตัวออกจากตำแหน่งที่อยู่เดิมเท่านั้น แต่อีกหลาย ๆ คนก็บอกว่าไส้เลื่อนมีความอันตรายหากไม่ได้รับการรักษา แล้วในความเป็นจริง “โรคไส้เลื่อนอันตรายไหม”
จากข้อมูลของโรงพยาบาลหลาย ๆ แห่ง เช่น โรงพยาบาลเปาโล โรงพยาบาลศิครินทร์ โรงพยาบาลพญาไท ฯลฯ ได้บอกไว้ชัดเจนว่าโรคไส้เลื่อนมีความอันตราย หากเป็นแล้วไม่ทำการผ่าตัดจะเสี่ยงกลายเป็นโรคลำไส้อุดตันหรือลำไส้เน่าเพราะขาดเลือดไปเลี้ยงได้ และอาจมีอาการปวดท้องรุนแรง รวมถึงคลื่นไส้ ซึ่งภาวะนี้เป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคไส้เลื่อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้เลย ดังนั้นสิ่งนี้จึงเป็นคำตอบของคำถามที่ว่าโรคไส้เลื่อนอันตรายไหม
การผ่าตัดโรคไส้เลื่อน
การผ่าตัดแก้ไขไส้เลื่อนเป็นการผ่าตัดที่มีการวางแผนล่วงหน้า ไม่มีความยุ่งยากมากนัก และค่อนข้างปลอดภัย เพราะเป็นการผ่าตัดเพื่อเสริมความแข็งแรงของผนังหน้าท้องหลังจากดันลำไส้ที่เลื่อนกลับเข้าไปแล้ว ซึ่งการผ่าตัดรักษาโรคไส้เลื่อนสามารถทำได้ทั้งแบบผ่าตัดเปิดหน้าท้องและผ่าตัดแบบส่องกล้อง แต่การผ่าตัดแบบส่องกล้องจะเกิดการเจ็บปวดน้อยกว่า แผลมีขนาดเล็กกว่า และสามารถฟื้นตัวได้เร็ว ที่สำคัญยังลดอัตราการเป็นไส้เลื่อนซ้ำ มีโอกาสเกิดพังผืดในช่องท้องน้อยลง มีภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า และสามารถกลับมาใช้ชีวิตทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ปกติใน 1 - 2 วัน
ภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดไส้เลื่อน
เมื่อรู้แล้วว่าโรคไส้เลื่อนอันตรายไหม มีการผ่าตัดแบบไหนบ้าง ผู้ป่วยก็ควรจะรู้ถึงภาวะแทรกซ้อนหลังจากที่เข้ารับการผ่าตัดไส้เลื่อนด้วย เพื่อจะได้ตั้งตัวและเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ทัน ซึ่งภาวะที่พบก็ไม่ได้รุนแรงนัก เช่น อาจมีลิ่มเลือดบริเวณใต้แผลผ่าตัดที่เกิดจากเลือดออกจากหลอดเลือดเล็ก ๆ ขณะทำการเลาะเนื้อเยื่อ การติดเชื้อของแผลผ่าตัด การบาดเจ็บต่ออวัยวะข้างเคียง เช่น ท่อนำน้ำเชื้ออสุจิ เส้นประสาทขนาดเล็กที่มารับความรู้สึกจากผิวหนัง ทำให้มีการเจ็บแปลบหรือชา เป็นต้น
การดูแลตนเองและการป้องกันโรคไส้เลื่อน
1.สำหรับผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นไส้เลื่อนและอยู่ในระหว่างรอรับการผ่าตัดรักษา หรือผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้เนื่องจากมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจขั้นรุนแรง ควรจะระวังไม่ให้ไส้เลื่อนเกิดภาวะติดคาด้วย การไม่ยกของหนัก ไม่เบ่งถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ เป็นต้น
2.ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดรักษาไส้เลื่อนแล้วยังต้องระวังไม่ให้ไส้เลื่อนกลับมาเป็นอีกด้วยการลดน้ำหนักในผู้ที่มีปัญหาโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน ยังคงไม่ยกของหนัก ไม่เบ่งถ่ายอุจจาระและปัสสาวะเป็นประจำ
3.ผู้ป่วยโรคไส้เลื่อนกระบังลมที่มีอาการของกรดไหลย้อน ควรป้องกันการเพิ่มกรดในกระเพาะอาหาร เช่น ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ น้ำอัดลม รวมถึงช็อกโกแลต ไม่กินอาหารที่มีรสจัด ไม่กินอาหารที่มีไขมันมาก ไม่กินอาหารมากเกินไปในแต่ละมื้อ งดอาหารก่อนที่จะนอนอย่างน้อยประมาณ 3 ชั่วโมง งดสูบบุหรี่ เป็นต้น
คราวนี้คุณผู้ชายและคุณผู้หญิงก็คงทราบกันแล้วว่า โรคไส้เลื่อน อันตรายไหม และควรจะต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือดูแลตัวเองอย่างไร ซึ่งสิ่งเดียวที่ทางเพจของเรายังคงย้ำเตือนเสมอก็คือทุกคนต้องตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีเพื่อจะได้ป้องกันความเสี่ยงจากโรคอื่น ๆ ได้ทันเวลา
อ่านบทความ ไส้เลื่อน ขาหนีบผู้ชาย ปัญหาใหญ่ของหนุ่ม ๆ ที่พึงระวัง