ต่อมลูกหมากโต เกิดขึ้นได้กับทุกคนเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกายย่อมมีความเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะในคุณผู้ชายหรือคุณผู้หญิง ทั้งในด้านร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ โดยเฉพาะความผิดปกติของต่อมลูกหมากในคุณผู้ชาย โดยเฉพาะในผู้ชายไทย ต่อมลูกหมากโตถือว่าเป็นโรคยอดฮิต ติดอันดับ 1 ที่พบ โดยมีจำนวนมากถึง 80% รองลงมาคือโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก 18% และโรคต่อมลูกหมากอักเสบอีก 2% ดังนั้นหากสังเกตว่ามีอาการผิดปกติ ควรรีบเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาโดยเร็ว เพื่อช่วยลดความรุนแรงของโรคได้

รู้จักโรค ต่อมลูกหมากโต
โรคต่อมลูกหมากโต หรือ BPH (Benign Prostate Hyperplasia) คือ ภาวะที่ต่อมลูกหมากซึ่งเป็นต่อมที่อยู่ใต้กระเพาะปัสสาวะของคุณผู้ชาย ซึ่งล้อมรอบท่อปัสสาวะ ขยายขนาดใหญ่ผิดปกติจนไปบีบท่อปัสสาวะให้แคบลง มักพบในผู้ชายอายุ 45 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะในผู้ชายอายุ 70 ปีขึ้นไปพบมากถึง 80% ของผู้ป่วยในกลุ่มอาการโรคต่อมลูกหมาก

อาการของ ต่อมลูกหมากโต
ในทางการแพทย์ จะวินิจฉัยอาการต่อมลูกหมากโด โดยมุ่งเน้นที่อาการขับถ่ายปัสสาวะของผู้ป่วยที่ผิดปกติเป็นหลัก มากกว่าขนาดก้อนต่อมลูกหมาก โดยสังเกตอาการได้ ดังนี้
- ปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะตอนกลางคืน
- ปัสสาวะเล็ด
- ปัสสาวะกระปิดกระปรอย
- ปัสสาวะต้องเบ่งหรือรอนาน
- ปัสสาวะไม่พุ่ง ไหลช้า ๆ หยุด ๆ
- ปัสสาวะไม่สุดและมีหยด ๆ ตามมาตอนท้าย
- ปัสสาวะมีเลือดหรือหนองปนอยู่
- กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- ตื่นตอนเช้ามีน้ำเหนียวๆ ติดอยู่ปลายอวัยวะเพศ
- น้ำอสุจิมีเลือดปนอยู่หรือมีอาการปวดตอนหลั่งน้ำอสุจิ
- ถุงอัณฑะเย็นและชื้น
- ปวดถ่วงที่อัณฑะ
- ปวดบั้นเอวช่วงล่าง
- หย่อนสมรรถภาพทางเพศ
- อวัยวะเพศไม่แข็งตัว
- นอนไม่หลับ อ่อนเพลียเพราะ พักผ่อนไม่เพียงพอ
วิธีตรวจวินิจฉัยโรคต่อมลูกหมากโต
หากผู้ที่สงสัยว่าตนเองจะมีอาการต่อมลูกหมากโต ควรเข้ารับการปรึกษากับแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโรคต่อมลูกหมากโต ซึ่งในการวินิจฉัยอาการนั้น จะมีขั้นตอน ดังต่อไปนี้
- ซักประวัติเพื่อตรวจสอบอาการ
- ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ และตรวจวัดความแรงของสายปัสสาวะ
- อัลตราซาวนด์เพื่อตรวจหาขนาดต่อมลูกหมากที่เปลี่ยนแปลง
- ตรวจคลำต่อมลูกหมากผ่านทางท่อทวารหนัก โดยวิธีการ“ดีอาร์อี” (Digital Rectal Examination) เพื่อตรวจดูความผิดปกติ

การรักษาโรคต่อมลูกหมากโต
วิธีการรักษาโรคต่อมลูกหมากโต แบ่งออกเป็นหลายวิธี ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค ซึ่งแบ่งออกเป็นกลุ่ม ๆ ได้ดังต่อไปนี้
- รักษาด้วยยา เพื่อช่วยคลายอาการบีบเกร็งของกล้ามเนื้อต่อมลูกหมาก ซึ่งยาที่แพทย์ใช้นั้น ได้แก่ ยา
ต้านระบบประสาทอัลฟ่า (Alpha Blocker) ช่วยยับยั้งการสร้างฮอร์โมนเพศชาย 5 อัลฟ่ารีดักเทส (DHT) และมีผลกับขนาดของต่อมลูกหมาก ซึ่งแพทย์จะรักษาตามอาการ
- ผ่าตัดขูดต่อมลูกหมากออก โดยการส่องกล้องผ่านกระเพาะปัสสาวะ วิธีการรักษาแบบนี้ เป็นวิธีที่
ได้รับความนิยม แต่จะต้องทำการรักษาโดยแพทย์ผู้ชำนาญการ ซึ่งการรักษาด้วยการผ่าตัดนี้บ่งออกเป็น 2 แบบ คือ
- การรักษาทางศัลยกรรมผ่านกล้องส่องกระเพาะปัสสาวะ TURP (Transurethral Resection of the
Prostate) โดยในการรักษาจะใช้กล้องส่องผ่านท่อปัสสาวะ จากนั้นแพทย์จะตัดหรือขูดต่อมลูกหมากออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ด้วยเครื่องมือแบบขดลวด ซึ่งใช้สำหรับตัดและจี้ด้วยไฟฟ้าแบบประจุเดี่ยวโมโนโพลาร์เพื่อตัดชิ้นเนื้อพร้อมหยุดเลือดในเวลาเดียวกัน
- การผ่าตัดขูดต่อมลูกหมากโตผ่านกล้องส่องทางท่อปัสสาวะ TURPV (Transurethral Vaporized –
Resection of the Prostate) หรือ Plasma Kinetic (PK) โดยใช้เครื่องตัดและจี้ด้วยระบบไฟฟ้าประจุคู่ไบโพลาร์ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บรักษาเนื้อเยื่อที่อยู่ใต้ส่วนที่ถูกตัดและจี้ด้วยไฟฟ้าไม่ให้ไหม้เกรียมมากเกินไป มีระบบช่วยระเหิดเนื้อเยื้อคล้ายคลึงกับการใช้แสงเลเซอร์คือ แวโพไลเซชัน (Vaporization)
- ผ่าตัดด้วยแสงเลเซอร์กรีนไลท์ PVP (Green Light PVP : Photo – Selective Vaporization of
Prostate) วิธีการรักษานี้ เป็นนวัตกรรมใหม่ของเทคนิคการผ่าตัดต่อมลูกหมากโต โดยใช้หลักการสอดท่อที่มีกล้องขนาดเล็กผ่านเข้าทางท่อปัสสาวะ เช่นเดียวกับการผ่าตัดส่องกล้อง แต่เปลี่ยนจากใช้ที่ขูดเป็นแสงเลเซอร์พลังงานสูงยิงไปในตำแหน่งที่ตรวจพบภาวะอุดกั้นในต่อมลูกหมาก แสงเลเซอร์จะทำให้เนื้อเยื่อที่กีดขวางทางเดินปัสสาวะค่อย ๆ ระเหิดหายไป การผ่าตัดชนิดนี้เกิดการเสียเลือดน้อย จึงเหมาะกับผู้สูงอายุมาก ๆ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวซึ่งต้องใช้ยาละลายลิ่มเลือด
- การรักษาด้วยการใช้แสงเลเซอร์ทูเลียม (Thulium Laser Vaporesection of the Prostate) ได้ผลดี
เทียบเท่า PVP แตกต่างกันที่สามารถตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากที่อุดกั้นทางเดินปัสสาวะให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ และเก็บเอาไว้เพื่อใช้ในการตรวจวินิจฉัยครั้งต่อไป ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งต่อมลูกหมากและนำมาใช้รักษาภาวะอาการท่อปัสสาวะตีบจากพังผืดได้
ภาวะแทรกซ้อนถ้าไม่รีบรักษา
หากผู้ป่วยด้วยภาวะโรคต่อมลูกหมากโต ไม่ได้เข้ารับการรักษาที่เหมาะสม อาจก่อให้เกิดอาการแทรกซ้อน อันมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตได้ เช่น อาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ปัสสาวะเป็นเลือด เพราะต่อมลูกหมากบวม หรืออาจรุนแรงถึงขั้นไตเสื่อม หรือไตวาย
ต่อมลูกหมากโต นี้มีผลกระทบอย่างยิ่งต่อผู้ที่อยู่ในภาวะอาการของโรค เนื่องจากทำให้เกิดความยากลำบากต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน อีกทั้งอาการปวดอันไม่พึงประสงค์ อาการปัสสาวะติดขัด อาจส่งผลกระทบให้เกิดอาการแทรกซ้อน เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบอีกด้วย ดังนั้น หากท่านมีความสงสัยว่าตัวเองจะมีอาการของโรคต่อมลูกหมากโตแล้ว ก็ควรรีบเข้ารับการปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการและเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
อ่านบทความ ผู้ชายกลิ่นตัวแรงทำอย่างไรดี
เครดิตรูปจาก www.google.com