เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงเคยประสบปัญหาเป็นเหน็บชาไม่บริเวณใดก็บริเวณหนึ่งของร่างกาย ซึ่งอาการชาจะเกิดขึ้นในช่วงสั้น ๆ เป็นส่วนใหญ่ แต่สำหรับบางคนก็กินเวลานาน อีกทั้งยังเป็นอาการที่สามารถสร้างได้อีกด้วย แล้ว โรคเหน็บชา จะบรรเทาหรือรักษาอย่างถาวรได้อย่างไรบ้างนั้น วันนี้มาติดตามกันเลย
โรคเหน็บชาเกิดขึ้นได้อย่างไร
เมื่อร่างกายขาดสารอาหารจำพวกวิตามินบี 1 หรือไธอามีน (Thiamine) จะทำให้ร่างกายมีอาการเหน็บหรือชาได้ง่าย ซึ่งสารอาหารดังกล่าวนี้ร่างกายของมนุษย์ไม่สามารถผลิตขึ้นได้ด้วยตัวเอง แต่จะได้รับจากการรับประทานอาหารหรืออาหารเสริมบางชนิดเท่านั้น และนอกจากนี้การที่เป็นโรคเหน็บชาอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงโรคอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น โรคเบาหวาน โรคพิษสุราเรื้อรัง และโรคเรื้อรังต่าง ๆ เป็นต้น แม้แต่กรรมพันธุ์เองก็ทำให้เป็นโรคเหน็บชาได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นผู้ที่มีอาการเหน็บชาจะต้องแน่ใจว่าตนเองไม่ได้ป่วยเป็นโรคอื่น ๆ อยู่ หรือเป็นผลพวงมาจากพันธุกรรม เพราะหากเกิดจากการขาดวิตามินบี 1 จะสามารถรักษาได้ง่ายกว่า
อาการของโรคเหน็บชา
ขึ้นชื่อว่าโรคเหน็บชาแน่นอนว่าต้องมีทั้งอาการเหน็บและอาการชาควบคู่กันไป โดยที่อาการเหน็บคืออาการเจ็บป่วยที่มีลักษณะคล้ายกับอาการที่นั่งทับขาตนเองเป็นเวลานาน ๆ ทำให้ส่วนที่ถูกทับเกิดอาการเจ็บปวดและเกร็ง จนในบางครั้งร่างกายบนิเวณนั้นอ่อนแรงจนเหยียดไม่ออกหรือลุกขึ้นไม่ได้ ส่วนอาการชาเป็นอาการที่เกิดจากส่วนใดส่วนหนึ่งมีการรับรู้ความรู้สึกที่เปลี่ยนไป บางครั้งอาจเหมือนมีเข็มเป็นพันเล่มมาจิ้มที่บริเวณนั้น ๆ ในบางรายชาแล้วจะรู้สึกเจ็บ บางรายก็ร้อนหรือเย็น หรืออาจจะรู้สึกหน่วง ๆ ทื่อ ๆ และบางรายที่มีอาการชามากอาจจะไม่รู้สึกที่อวัยวะส่วนนั้นเลย
ประเภทของโรคเหน็บชา
รู้หรือไม่ว่าโรคเหน็บชาสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ เหน็บชาในเด็กและเหน็บชาในผู้ใหญ่
- อาการเหน็บชาในเด็ก
สำหรับเด็กเล็กจะพบอาการเหน็บชาได้บ่อย ๆ ในทารกที่มีอายุเพียง 2 – 3 เดือน ซึ่งเกิดจากการขาดวิตามินบี 1 โดยมีอาการหน้าเขียว หอบเหนื่อย ตัวบวม ขาบวม หัวใจโต หัวใจเต้นเร็ว ร้องไห้เสียงแหบหรือไม่มีเสียง บางรายอาจมีอาการตากระตุก หนังตาบนตก และจะมีอาการรุนแรงไปจนถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย ดังนั้นจึงต้องระวังโรคเหน็บชาที่เกิดขึ้นในเด็กเล็ก ๆ มาก ๆ
- อาการเหน็บชาในผู้ใหญ่
ผู้ใหญ่หรือเด็กที่โตแล้วมักจะแบ่งอาการเหน็บชาออกเป็น 3 ประเภท
-เหน็บชาชยิเแห้ง Dry beriberi จะมีอาการชาปลายมือและปลายเท้า กล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง ไม่มีกำลัง โดยเฉพาะที่ขาส่วนล่าง ร่างกายจะมีความเจ็บปวด บางรายเริ่มหนักก็จะเริ่มพูดไม่ชัด พูดติดขัด อาเจียน ตาขยับเองโดยที่ไม่รู้ตัว และเป็นอัมพาตได้ในที่สุด
-เหน็บชาชนิดเปียก Wet beriberi ประเภทนี้จะรู้สึกชาที่ปลายมือและปลายเท้าแต่มีอาการบวมร่วมด้วย เนื่องจากมีน้ำคั่งในช่องท้องและช่องปอด เมื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ จะหอบและเหนื่อยง่าย บ่อยครั้งที่ตื่นนอนจะมีอาการหายใจตื้นเพราะหัวใจโตและเต้นเร็ว หากไม่รีบรักษาอาจทำให้หัวใจวายได้
-เหน็บชา Wernicke – Korsakoff Syndrome จะพบบ่อยในผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง จะมีการเคลื่อนไหวลูกตาได้น้อยหรือทำไม่ได้เลย เดินเซ และมีความผิดปกติทางจิตใจเสมือนผู้ที่ดื่มสุราจนเมานั่นเอง
การป้องกันและรักษาโรคเหน็บชา
เนื่องจากโรคเหน็บชาเกิดจากการขาดวิตามินบี 1 จึงแน่นอนว่าผู้ที่มีอาการเหน็บชาบ่อย ๆ ควรจะรับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 1 สูง ได้แก่ เนื้อหมู เนื้อวัว ตับ ไข่เป็ด ข้าวเจ้าหรือข้าวซ้อมมือ รวมถึงถั่วต่าง ๆ เช่น ถั่วเหลือง ถั่วแดง ถั่วเขียว เป็นต้น อาหารเหล่านี้จะมีสารอาหารที่เรียกว่าวิตามินบี 1 สูงกว่าอาหารประเภทอื่น ๆ หากใครกำลังมีอาการเหน็บชาก็ควรเลือกรับประทานอาหารประเภทนี้เป็นประจำก่อน เพื่อช่วยเสริมสร้างร่างกายให้กลับมาแข็งแรงจนค่อย ๆ คลายลงและไม่รู้สึกเหน็บหรือชาอีกต่อไป
สิ่งสำคัญสำหรับผู้ที่เป็น โรคเหน็บชา ขั้นรุนแรงคือการลด ละ เลิกสุราและของหวานอย่างเด็ดขาด เนื่องจากพิษสุราเรื้อรังมีผลต่ออาการที่เป็นอยู่ และโรคเบาหวานก็เสี่ยงทำให้เป็นเหน็บได้ง่ายกว่าโรคอื่น ๆ ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรจะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุด้วย ไม่ควรแก้ปัญหาที่ปลายเหตุอย่างเดียวเท่านั้น
หลังจากที่ได้ทราบข้อมูลของอาการเหน็บชากันไปแล้วก็น่าตกใจกันไม่น้อยที่ โรคเหน็บชา เล็ก ๆ จะมีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ใครที่มักมีอาการชาและเป็นเหน็บบ่อย ๆ ควรรีบหันมาพึ่งวิตามินบี 1 โดยด่วน และหมั่นตรวจสุขภาพอยู่เสมอเพื่อป้องกันโรคร้ายตามมา
อ่านบทความ โรค SLE หรือโรคพุ่มพวง คือโรคอะไร ทำไมถึงเกิดกับผู้หญิงได้มากกว่าผู้ชาย