โรคกระดูกพรุน ถูกจัดเป็นภัยเงียบอีกหนึ่งโรคเพราะผู้ป่วยไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคกระดูกพรุน เนื่องจากโรคนี้จะไม่มีอาการแสดงออกมาให้เห็นแบบชัด ๆ และถือว่าเป็นปัญหาระดับชาติที่มีผู้สูงอายุเป็นโรคนี้เพิ่มมากขึ้น ๆ
รู้จัก โรคกระดูกพรุน
โรคกระดูกพรุนคือโรคที่ทำให้ความหนาแน่นหรือมวลของกระดูกลดน้อยลง ร่วมกับมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในของกระดูกจนทำให้กระดูกเสื่อม เปราะบาง ผิดรูป และมีโอกาสแตกหักได้ง่าย ซึ่งโรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่เกิดขึ้นทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย แต่มักจะเกิดกับผู้หญิงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงมีความหนาแน่นของกระดูกที่ลดลงอย่างรวดเร็วมากกว่าหลังจากช่วงวัยทองไปแล้ว
ปัจจัยเสี่ยงในการเป็น โรคกระดูกพรุน
สำหรับผู้ที่สงสัยว่าจะมีอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เป็นโรคกระดูกพรุนได้บ้าง นอกจากเรื่องของอายุที่เพิ่มมากขึ้น ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นโรคกระดูกพรุนมีดังนี้
1.การลดระดับของฮอร์โมน
สำหรับผู้หญิงที่เริ่มเข้าสู่ช่วงวัยทองหรือวัยหมดประจำเดือนจะทำให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ซึ่งฮอร์โมนเอสโตรเจนนั้นมีหน้าที่ส่งเสริมการสร้างมวลกระดูกและป้องกันการสลายของมวลกระดูก เมื่อขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนมวลกระดูกจะเริ่มลดลงอย่างรวดเร็ว เพราะการสลายมีมากกว่าการสร้าง โดยใน 5 ปีแรกเมื่อหมดประจำเดือนมวลกระดูกจะสามารถลดลงได้เร็วถึง 3 – 5 % ส่วนผู้ชายจะเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนเมื่อฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนต่ำลง
2.กรรมพันธุ์
หากในครอบครัวมีสมาชิกเครือญาติที่มีประวัติเป็นโรคกระดูกพรุนก็จะส่งผลให้คนคนนั้นมีความเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนได้ง่ายกว่าบุคคลอื่น ๆ เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก แต่ก็ใช่ว่าจะดูแลและป้องกันตัวเองไม่ได้
3.โรคและการเจ็บป่วย
การเป็นโรคบางโรค เช่น โรคภูมิแพ้ตัวเอง โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคมะเร็งกระดูก ฯลฯ ส่งผลให้สามารถเป็นโรคกระดูกพรุนได้ หรือแม้แต่การประสบอุบัติเหตุเกี่ยวกับไขข้อและกระดูกมาก่อนก็ทำให้เสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนในอนาคตได้เช่นกัน
4.ยาบางชนิด
รู้หรือไม่ว่าการกินยาบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานานนั้นทำให้กระดูกบางลงได้ เช่น กลุ่มยาสเตียรอยด์ในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์, ผู้ป่วยโรค SLE (โรคพุ่มพวง) ยาทดแทนธัยรอยด์ ยาป้องกันการชัก เป็นต้น
5.ขาดสารอาหาร
การอาหารที่มีแคลเซียมไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายในการสร้างกระดูกและการเจริญเติบโต หรือรับประทานอาหารที่ทำให้แคลเซียมเสียสมดุลอยู่เสมอ จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุนในอนาคต แม้แต่การรับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่ก็ทำให้ขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการสร้างมวลกระดูก โดยเฉพาะแคลเซียม วิตามินดี และโปรตีน
6.ออกกำลังกายไม่เพียงพอ
สำหรับผู้ที่ไม่ออกกำลังกายหรือไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกายมักจะมีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนมากกว่าผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ ในกรณีผู้หญิงที่นั่งทำงานมากกว่า 9 ชั่วโมงต่อวันนั้นจะเสี่ยงกระดูกสะโพกหักมากกว่าผู้หญิงที่นั่งน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อวันถึง 50% เลยทีเดียว
เกิดอะไรขึ้นหากเป็นโรคกระดูกพรุน
สำหรับคนที่ไม่ทราบว่าการเป็นโรคกระดูกพรุนจะส่งผลเสียอะไรตามมาบ้าง เพราะเป็นโรคที่ไม่ค่อยแสดงอาการ ซึ่งหากใครเป็นกระดูกพรุนนั้นบางคนอาจจะตัวเตี้ยลงมากกว่า 3 เซนติเมตร เนื่องจากกระดูกสันหลังโปร่งบางและยุบตัวลงช้า ๆ และโรคกระดูกพรุนก็ทำให้บางคนมีอาการปวดหลังจากการล้มหรือยกของหนัก ๆ ได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
แต่ที่น่าเป็นห่วงในผู้ที่ป่วยโรคกระดูกพรุนคือการมีโอกาสเกิดกระดูกหักได้ง่ายกว่าคนทั่วไปแค่มีแรงกระแทกเบา ๆ เท่านั้น รวมถึงมีการบิดและเอี้ยวตัวแบบกะทันหัน การไอ จาม หรือลื่นล้ม ก็ทำให้กระดูกสะโพกหรือกระดูกสันหลังหักได้ง่าย ๆ ก่อให้เกิดความพิการหรือทุพพลภาพตามมา ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ด้อยลงจากเดิม
การป้องกันโรคกระดูกพรุน
สำหรับวิธีป้องกันโรคกระดูกพรุนนั้นไม่ยากเลย ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1.รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น ชีส โยเกิร์ต ผักใบเขียว คอร์นเฟลกส์ ปลาซาร์ดีน งา ปลาตัวเล็กตัวน้อย และนมเสริมวิตามินดีวันละแก้วเป็นประจำ โดยเฉพาะอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินเคในผักต่าง ๆ เช่น ผักโขม ผักจำพวกกะหล่ำ ถั่วเขียว หน่อไม้ฝรั่ง และบรอกโคลี เพราะวิตามินเคเป็นอีกทางเลือกที่ดีในการเพิ่มความแข็งแกร่งของกระดูก
2.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการยกน้ำหนัก วิ่งเหยาะ ๆ หรือเดินวันละ 10,000 ก้าวก็ตาม การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพียงวันละเล็กน้อยนั้นจะช่วยบำรุงกระดูกและกล้ามเนื้อได้ดีกว่าการไม่ออกกำลังกายเลย
3.ระมัดระวังในการใช้ยาบางประเภทที่เสี่ยงทำให้เป็นกระดูกพรุน
4.หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้สุขภาพเสีย เช่น สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนสูง
สำหรับใครที่ไม่อยากตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนก็ควรจะต้องดูแลตัวเองตั้งแต่อาหารการกินไปจนถึงการออกกำลังกาย เพราะเป็น 2 วิธีหลัก ๆ พื้นฐานที่จะทำให้มีสุขภาพที่ดีในระยะยาว
อ่านบทความ 6 อาหารบำรุงเลือด ช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง