เครียดลงกระเพาะ เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่ว่าโดยสถิติแล้วโรคนี้จะเกิดขึ้นกับคนวัยทำงานมากที่สุด โดยเฉพาะในมนุษย์เงินเดือนที่ทำงานตามออเดอร์เท่านั้น ยิ่งเงินเดือนสูงก็ยิ่งกดดัน ทำงานไม่ดีก็โดนตำหนิ ทุก ๆ วันต้องพบกับสิ่งต่าง ๆ มากมายถาโถมเข้ามาไม่หยุด รู้ตัวอีกทีกลายเป็นเครียดลงกระเพาะไปแล้ว
เครียดลงกระเพาะ เกิดขึ้นได้ยังไง
เมื่อมีความเครียดมาก ๆ จะส่งผลต่อการหลั่งฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกาย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือส่วนของกระเพาะอาหารที่จะหลั่งกรดย่อยอาหารออกมามากกว่าปกติ ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารและย่อยอาหารได้ช้าลง สิ่งนี้จึงเรียกว่าเครียดลงกระเพาะนั่นเอง
อาการของความเครียดลงกระเพาะ
- รู้สึกปวด จุก แน่น หรือแสบบริเวณลิ้นปี่ ซึ่งเกิดหลังจากรับประทานอาหารเข้าไป
- แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย
- มีลมในกระเพาะอาหารเยอะ เรอบ่อย
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ขับถ่ายออกมาเป็นเลือดหรือมีสีดำ
- แสบร้อนกลางอกและมีกรดไหลย้อน
ความเครียดส่งผลต่อระบบย่อยอาหารแบบไหน
- ระบบภูมิคุ้มกันมีประสิทธิภาพต่ำลงทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร
- ระบบย่อยอาหารทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควรเนื่องจากมีแบคทีเรียชนิดที่ไม่ดีเพิ่มขึ้น
- กล้ามเนื้อหลอดอาหารหดเกร็ง และมีกรดในกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น
- เมื่อมีความเครียดจะส่งผลทำให้ร่างกายหลั่งกรดที่จำเป็นต่อการย่อยอาหารได้น้อยลง ทำให้อาหารไม่ย่อยและท้องอืดได้
- ท้องเสียหรือท้องผูกเนื่องจากลำไส้ใหญ่ตอบสนองต่อความเครียด
วิธีรับมือกับอาการเครียดลงกระเพาะ
- ความเครียดลงกระเพาะมีสาเหตุตรงตัวคือมาจากความเครียด ฉะนั้นต้องหาว่าอะไรที่เป็นต้นเหตุให้เกิดความเครียดมาก ๆ แล้วหลีกเลี่ยงการต้องเผชิญความกดดันนั้นไปสักระยะหนึ่ง การให้โอกาสตัวเองได้พักบ้างก็เป็นตัวช่วยที่ดี
- ควรออกกำลังกายเล็ก ๆ น้อยบ้างเพื่อให้ร่างกายได้ขยับเขยื้อน และไม่ตึงจนเกินไป
- ฟังเพลง อ่านหนังสือที่ชอบ วาดรูปเล่น นั่งสมาธิ ฯลฯ เพื่อทำให้รู้สึกผ่อนคลายลง และให้ความคิดได้ละจากเรื่องหนัก ๆ สักช่วงระยะเวลาหนึ่ง
- กินอาหารที่ดีมีประโยชน์เพื่อดูแลตัวเอง โดยเฉพาะอาหารที่ย่อยง่าย และที่สำคัญควรจะรับประทานอาหารให้ตรงเวลาด้วย
- เลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือการสูบบุหรี่ สิ่งนี้ไม่ได้ช่วยทำให้ความเครียดลดลง ปัญหายังคงอยู่ และแอลกอฮอล์กับบุหรี่ก็ยังกระตุ้นให้เกิดความเครียดมากขึ้นอีก
- เมื่อมีภาวะเครียดจะทำให้นอนไม่ค่อยหลับ แต่อย่างไรก็ตามควรจะจัดเวลาการเข้านอนให้เหมาะสม นอนให้เร็ว ตื่นให้เช้า จะช่วยทำให้สดชื่น สมองปลอดโปร่งมากขึ้น
- ในบางครั้งหากไม่สามารถจัดการกับปัญหาที่รุมเร้าได้ทั้งหมดก็ควรจะหาใครสักคนที่ไว้ใจได้เพื่อระบายความหนักและความทุกข์ใจบ้าง เพราะความเครียดลงกระเพาะนั้นมาจากความอึดอัดใจที่ไม่สามารถบอกหรือเล่า แก้ไข หรืออธิบายให้ใครฟังได้ เช่น พยายามจะอธิบายให้หัวหน้างานฟังแต่เขาไม่ต้องการให้พูดอะไรเยอะ แบบนี้จะทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัดใจจนเกิดความเครียดสะสมได้ ฉะนั้นให้มองหาคนที่ทำให้เราสบายใจได้ไว้สักคน
- ยิ้มเข้าไว้แม้ว่าข้างในจะยังเครียดอยู่ เพราะเมื่อคุณยิ้มจะเป็นการหลอกสมองให้เชื่อว่าคุณกำลังมีความสุข! รอยยิ้มจะไปกระตุ้นสารเคมีในสมองที่มีชื่อว่า โดพามีน ทำให้รู้สึกตื่นตัว กระฉับกระเฉง มีสมาธิ ทำให้เกิดความพอใจหรือมีความสุขนั่นเอง
- ฝึกหายใจเข้าลึก ๆ หายใจออกทางปากยาว ๆ อย่างช้า ๆ จะช่วยให้ผ่อนคลายมากขึ้นแบบง่าย ๆ
- หากหนักถึงขั้นอุจจาระปนเลือด อาเจียน น้ำหนักลด และไม่สามารถจัดการกับความเครียดได้แล้วก็ควรเข้าพบแพทย์และจิตแพทย์เพื่อช่วยจัดการให้ และอย่ามองว่าการพบจิตแพทย์เป็นเรื่องน่าอาย หรือเป็นที่เฉพาะของคนเสียสติเท่านั้น จิตแพทย์คือผู้ที่เชี่ยวชาญสำหรับใครก็ตามที่ต้องการให้ช่วยเหลือทางจิตใจ อย่าปล่อยให้ความเครียดสะสมมากเข้า เพราะนอกจากเครียดลงกระเพาะแล้วอาจกลายเป็นเครียดจนเส้นเลือดในสมองแตกได้
จะเห็นได้ว่าความเครียดลงกระเพาะเป็นเรื่องที่สามารถดูแลและรับมือได้โดยตัวของคุณเอง หากคุณเป็นคนที่จัดการกับความเครียดไม่เก่งก็ควรจะเลือกงานหรือตำแหน่งที่เหมาะสม เพราะในฐานะมนุษย์เงินเดือนยิ่งมีรายได้สูงก็ยิ่งมีแรงกดดันมากมาย จะได้ไม่มีปัญหาความเครียดลงกระเพาะอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากความเครียดเป็นจุดเริ่มต้นของโรคร้าย หากรู้ตัวก็ควรจะหาวิธีผ่อนคลายความเครียดลง
อ่านบทความ อยากนอนแต่ นอนไม่หลับ มีสาเหตุมาจากอะไรพร้อมวิธีแก้ไข
เครดิตรูปภาพทั้งหมด : https://pixabay.com/th/