ทุกคนเคยสงสัยกันไหมว่าทำไมถึงได้มีอาการ ชามือชาเท้า กันอยู่บ่อย ๆ เกิดจากการไม่ค่อยได้ขยับตัวหรือเปล่า หรือว่าเป็นเพราะเล่นโซเชียลบ่อย ๆ ต่างคนต่างก็คิดกันไปต่าง ๆ นานา แต่อย่ามัวเดาให้เสียเวลา ตอนนี้มาดูกันเลยดีกว่าว่าอาการชามือชาเท้าที่เรากำลังเป็นอยู่นั้นบ่งบอกถึงโรคอะไรบ้างหรือเปล่า
ทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาการชา
อาการชาจัดเป็นอาการที่ผิดปกติทางการรับความรู้สึก ผู้ที่มีอาการชามักจะเสียการรับรู้ความเจ็บปวด ไร้ความรู้สึกร้อนหรือเย็น และไม่สามารถรู้สึกถึงสัมผัสหรือการสั่นสะเทือนใด ๆ ได้ โดยอาการจะมีมากหรือน้อยนั้นแตกต่างกันแล้วแต่บุคคลไป ส่วนใหญ่จะพบว่าผู้ที่มีอาการชา ไม่ว่าจะชาที่หน้า ชามือชาเท้า หรือชาส่วนไหนของร่างกายก็ตามจะอยู่ในช่วงวัยทำงานถึงวัยสูงอายุ ซึ่งอาการชาทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้จากท่าทางในชีวิตประจำวัน พฤติกรรมการรับประทานอาหาร โรคประจำตัว หรือพันธุกรรมของแต่ละบุคคล
อาการชามือชาเท้าในลักษณะต่าง ๆ
โดยทั่วไปแล้วอาการชามือชาเท้าจะเกิดขึ้นได้หลาย ๆ รูปแบบ ซึ่งแต่ละแบบจะบ่งบอกถึงโรคอะไรบ้างนั้น เลื่อนดูกันได้เลย
1.รู้สึกชาปลายเท้าและปลายมือเข้าหาลำตัว
หากคุณเป็นอีกหนึ่งคนที่มีอาการชามือชาเท้าในลักษณะนี้ สิ่งที่ควรรู้คือมันเป็นอาการของโรคปลายประสาทอักเสบหรือปลายประสาทเสื่อม ซึ่งเกิดจากขาดสารอาหารที่สำคัญบางชนิด ได้แก่ วิตามินบี 1 วิตามินบี 6 หรือวิตามินบี 12 ดังนั้นถ้าต้องการหายชาบริเวณปลายเท้าและปลายมือก็ควรจะเร่งทานอาหารที่ให้วิตามมินสูงเป็นประจำ
2.รู้สึกชามือ แต่ไม่รู้สึกชาเท้า
การชาเฉพาะที่มืออย่างเดียวสามารถแบ่งบริเวณของมือที่ชาเป็นส่วน ๆ ได้ดังนี้
-ชาปลายนิ้วมือเกือบทุกนิ้ว แต่นิ้วก้อยไม่ชาหรือชาน้อยที่สุด
อาการชาประเภทนี้มักจะเกิดขึ้นในตอนกลางคืนหรือตอนตื่นนอนมากกว่าเวลากลางวัน ซึ่งมีสาเหตุจากการอยู่ในท่วงท่าที่ไม่เหมาะสมหรือทำต่อเนื่องเป็นเวลานาน เช่น ชูมือสูง ขี่จักรยานยนต์ คุยโทรศัพท์ หรือใช้มือทำงานบางอย่างอย่างหนัก ทำให้เอ็นกดทับเส้นประสาทตรงบริเวณข้อมือ ซึ่งนับว่ายังไม่อันตรายมากนัก มีวิธีแก้คือต้องลดงานที่ใช้มือข้างนั้น ๆ ลง หลีกเลี่ยงท่าทางที่ทำแล้วทำให้มือชา หมั่นเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ แต่ถ้าเป็นมากอาจจะต้องฉีดยาที่ข้อมือเพื่อบรรเทาอาการเหน็บชา
-ชาที่บริเวณนิ้วก้อย นิ้วนาง และขอบมือด้านเดียวกัน แต่ไม่เลยเกินข้อมือ
อาการชาประเภทนี้มักเกิดจากการที่เส้นประสาทถูกกดทับตรงข้อศอก หากอยากให้หายจะต้องเลี่ยงท่าทางที่ทำให้ชาไม่ต่างจากก่อนหน้านี้ แต่ถ้ารู้สึกชาเลยข้อมือขึ้นมาจนถึงข้อศอกแล้วละก็ อาการนี้มักจะมีสาเหตุมาจากเส้นประสาทถูกกดทับบริเวณกระดูกไหปลาร้า ต้องรีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน
-ชาหลังมือไม่เกินข้อมือ โดยเฉพาะบริเวณง่ามระหว่างนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้
อาการชาประเภทนี้มักเกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับที่ต้นแขน จึงควรเลี่ยงการนั่งเอาแขนพาดพนักเก้าอี้ แต่ก็มีบางคนที่อาจจะรู้สึกชาเลยขึ้นมาถึงแขน สิ่งนี้อาจเป็นเพราะเส้นประสาทบาดเจ็บบริเวณรักแร้นั่นเอง
-ชาเป็นแถบตั้งแต่แขนลงไปถึงนิ้วมือ
หากเป็นอาการชาประเภทนี้มักจะเกิดขึ้นจากกระดูกต้นคอเสื่อมและมีผลต่อการกดทับเส้นประสาท ควรรีบปรึกษาแพทย์ให้ไวที่สุด
3.รู้สึกชาเท้า แต่ไม่รู้สึกชาที่มือ
อาการชามือชาเท้าในลักษณะนี้แตกต่างจากอาการชามือแต่ไม่รู้สึกชาเท้า ซึ่งก็บ่งบอกถึงโรคที่ต่างชนิดกัน ดังนี้
-ชาหลังเท้าขึ้นมาถึงหน้าแข้ง
อาการชาประเภทนี้เกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับบริเวณใต้เข่าด้านนอก อาจเป็นเพราะนั่งไขว่ห้าง นั่งขัดสมาธิ หรือนั่งพับเพียบนานเกินไป
-ชาฝ่าเท้า
อาการชาประเภทนี้เกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับที่ตาตุ่มด้านในหรือในอุ้งเท้า หากต้องการหายโดยเร็วควรเลิกท่าทางที่จะทำให้ขาชา ลดการยืนหรือเดินนาน ๆ และควรจะนั่งพักบ้าง
-ชาทั้งเท้า โดยรู้สึกชาที่ข้างใดข้างหนึ่ง และมักชาขึ้นมาถึงใต้เข่า
สำหรับอาการนี้เกิดจากเส้นประสาทได้รับความบาดเจ็บบริเวณสะโพก
-ชาด้านนอกของต้นขา
อาการชาประเภทนี้มีสาเหตุมาจากเส้นประสาทจะถูกกดทับที่ขาหนีบ ถ้าอยากหายควรหลีกเลี่ยงการงอพับบริเวณสะโพก
-ชาเป็นแถบจากสะโพกลงไปถึงเท้า
การชาบริเวณนี้เกิดจากหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท นับว่าเป็นอาการที่รุนแรงอย่างยิ่ง หากรักษาผิดวิธีอาจทำให้พิการได้ ดังนั้นจึงควรพบกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับคำแนะนำโดยตรง
เมื่อได้รู้ถึงอาการชามือชาเท้าในแต่ละแบบกันไปแล้ว หลาย ๆ คนก็คงจะกลับมาคิดกันแล้วว่าแค่อาการชามือชาเท้านั้นไม่ใช่เรื่องที่จะมองข้ามกันได้อีกต่อไป ยังไงก็ควรดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอด้วยการทำกายบริหารเป็นประจำ
อ่านบทความ มีกลิ่นปาก เกิดจากอะไร? มารู้ที่มาเพื่อช่วยป้องกันกลิ่นปากที่รุนแรงดีกว่า