เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยทองคุณผู้หญิงและคุณผู้ชายก็จะเริ่มมีอาการบ้านหมุนเข้ามาวนเวียนในชีวิตจนคิดว่าเป็นเรื่องปกติ ซึ่งหลาย ๆ คนที่ไม่ได้อยู่ในช่วงวัยทองก็มี อาการบ้านหมุน ได้เช่นเดียวกัน แต่ก็มักจะชะล่าใจคิดว่าเดี๋ยวก็หาย คงไม่เป็นอะไรมาก แต่หารู้ไม่ว่าอาการบ้านหมุนนี้มีอันตรายแฝงเอาไว้ไม่น้อย
ความแตกต่างของอาการบ้านหมุนกับอาการเวียนหัว
บางคนอาจจะแยกแยะไม่ออกว่าระหว่างอาการเวียนหัวกับอาการบ้านหมุนนั้นแตกต่างกันยังไงบ้าง และจะมีวิธีสังเกตได้อย่างไร วันนี้เรามาไขข้อข้องใจกันเลยดีกว่า
-อาการเวียนหัวแบบทั่วไป
สำหรับอาการเวียนหัวโดยทั่วไปจะมีลักษณะอาการตั้งแต่มึน ๆ งุนงง รู้สึกโคลงเคลง มีการทรงตัวไม่ดี สมองตื้อ ไม่แจ่มใส ไม่มั่นใจ หวิว ๆ โหวง ๆ มักมีสาเหตุมาจากสภาวะต่าง ๆ ที่ไม่เฉพาะเจาะจงเท่าไรนัก
-อาการบ้านหมุน
ในส่วนของอาการบ้านหมุนนั้นจะมีความแตกต่างกับอาการเวียนหัวอย่างเห็นได้ชัด เพราะผู้ที่มีอาการนี้จะรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัว หรือแม้แต่ตัวเองนั้นหมุนได้ ทั้ง ๆ ร่างกายยังคงยืนอยู่กับที่ไม่ได้เคลื่อนไหว บางรายอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน มีเหงื่อออกมาก เป็นต้น แต่ความน่ากลัวของอาการบ้านหมุนคือเมื่อเริ่มเวียนหัวจะเสียการทรงตัว ทำให้เสี่ยงต่อการล้มหรือเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่ไม่คาดฝันได้
บ้านหมุนเกิดขึ้นได้ยังไง
เมื่อมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกาย แน่นอนว่าย่อมต้องมีสาเหตุที่ทำให้เกิดขึ้นมา สำหรับอาการบ้านหมุนนั้นเกิดจากความผิดปกติของอวัยวะรับการทรงตัวของหูชั้นในที่คอยดูแลสมดุลของร่างกายจนทำให้เสียการทรงตัว เช่น เป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิต ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ โรคความดันโลหิตสูง โรคไมเกรน โรคหินปูนในหูชั้นใน หรือ BPPV ผู้ที่เคยมีอุบัติเหตุทางสมองมาก่อน ฯลฯ ปัจจัยอื่น ๆ เช่น เครียด วิตกกังวล พักผ่อนไม่เพียงพอ เมารถ เมาเรือ เป็นต้น หรือหากใครเป็นผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตเวชก็มีโอกาสทำให้เกิดอาการบ้านหมุนได้ง่ายกว่าคนปกติอีกด้วย
อาการบ้านหมุนบอกโรคอะไรได้บ้าง
สำหรับคนที่มีอาการบ้านหมุนบ่อยครั้งไม่ควรชะล่าใจเด็ดขาด เพราะบ้านหมุนไม่ได้เกี่ยวกับช่วงเข้าสู่วัยทองอย่างเดียวเท่านั้น แต่กำลังบ่งบอกว่าคุณอาจจะกำลังเสี่ยงเป็นโรคดังต่อไปนี้อยู่ก็เป็นได้
1.โรคทางหู
เช่น ขี้หูอุดตัน หูชั้นนอก ชั้นกลาง และชั้นในอักเสบ เป็นเนื้องอกหูชั้นนอก กระดูกช่องหูหัก เลือดคั่งในหูชั้นกลาง เนื้องอกที่โพรงหลังจมูก หูชั้นในอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ความดันน้ำในหูชั้นในผิดปกติ ผลึกหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน เส้นประสาทการทรงตัวในหูอักเสบ เนื้องอกประสาทการทรงตัวหรือเส้นประสาทการได้ยิน เป็นต้น
2.โรคทางสมองและระบบประสาท
เช่น โรคระบบประสาทส่วนกลาง ส่วนใหญ่จากสมองน้อย (Cerebellum) ความเสื่อมของระบบประสาทส่วนกลาง การติดเชื้อของระบบประสาท ฯลฯ
3.โรคอื่น ๆ
เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ โรคเลือดจางและอื่น ๆ โรคหลอดเลือดตีบจากไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคกระดูกต้นคอเสื่อม โรคไต โรคภูมิแพ้ ภาวะเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ เป็นต้น
หากใครที่เป็นบ้านหมุนบ่อยครั้งนั่นหมายความว่าคุณอาจจะกำลังเป็นหนึ่งในโรคต่าง ๆ เหล่านี้ก็เป็นได้ ทางที่ดีควรจะเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจสอบและหาทางรักษาแต่เนิ่น ๆ อย่าชะล่าใจคิดว่าจะหายไปเองแล้วปล่อยปละละเลย
วิธีปฏิบัติตัวเมื่อมีอาการบ้านหมุน
เมื่อคุณผู้ชายหรือคุณผู้หญิงกำลังมีอาการบ้านหมุนอย่าได้ตกอกตกใจกันไปใหญ่ แต่ให้ตั้งสติ และรีบปฏิบัติดังต่อไปนี้
-หยุดนั่งพักนิ่ง ๆ หรือนอนพักสักครู่จนกว่าอาการจะดีขึ้น ไม่ควรฝืนเดินเพราะอาจทำให้ล้มจนเกิดอุบัติเหตุได้
-หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนอิริยาบถอย่างรวดเร็ว หรือก้ม ๆ เงย ๆ นาน ๆ
-หากมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น พูดไม่ชัด กลืนลำบาก แขนขาอ่อนแรงและชา ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
การป้องกันตนเองไม่ให้มีอาการบ้านหมุน
อาการบ้านหมุนในวัยทองอาจจะเลี่ยงไม่ได้เท่าไรนัก แต่ก็สามารถป้องกันได้เช่นเดียวกับผู้ที่มีอาการบ้านหมุนแต่ไม่ได้อยู่ในช่วงวัยทอง ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการเวียนหัว ไม่ว่าจะเป็นความเครียด ความวิตกกังวล การพักผ่อนไม่เพียงพอ และควรออกกำลังกายเพื่อบริหารประสาทการทรงตัวอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังต้องหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มหรืออาหารที่มีคาเฟอีนและมีรสเค็มจัด หากเป็นไปได้ก็ควรจะเลี่ยงสถานที่ที่มีเสียงดัง ๆ เพื่อลดการกระทบกระเทือนบริเวณหูเอาไว้ด้วย
ใครที่ไม่อยากเป็นบ้านหมุนบ่อย ๆ อีกต่อไปก็อย่าลืมดูแลตัวเองไม่ให้พบปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่ทำให้มีอาการบ้านหมุน แต่หากอาการที่เป็นอยู่นั้นเริ่มหนักขึ้นหรือเป็นอยู่บ่อย ๆ ก็ควรจะพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา ดีกว่าการปล่อยให้เป็นโรคเรื้อรังไปเรื่อย ๆ จนหมดทางเยียวยา
อ่านบทความ กรดไหลย้อน เกิดจากอะไร อันตรายมากหรือไม่ ต้องอ่าน