
ออฟฟิศซินโดรม คือ อาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด หรืออาการปวดจากการอักเสบของเนื้อเยื่อและเอ็น เป็นผลมาจากใช้กล้ามเนื้อทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งซ้ำ ๆ เป็นระยะเวลานาน หรืออยู่ในท่าทางที่ไม่เหมาะสมต่อเนื่อง เช่น การนั่งเล่นคอมพิวเตอร์โดยไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบถ ซึ่งการเป็นออฟฟิศซินโดรมนั้นเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก ๆ โดยเฉพาะบุคคลที่ทำงานในลักษณะนั่งประจำที่หน้าโต๊ะบ่อย ๆ หากสะสมนาน ๆ เข้าอาจส่งผลเสียต่อร่างกายในระยะยาวได้ ดังนั้นจึงควรรู้วิธีดูแลและป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากปัญหาใกล้ตัวนี้ให้ทันท่วงที
อาการของออฟฟิศซินโดรม

ผู้ป่วยจะมีอาการปวดกล้ามเนื้อเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น คอ บ่า ไหล สะบัก และหลัง เป็นต้น อาการปวดที่พบคือการปวดแบบเป็นวงกว้าง หรือบางครั้งไม่สามารถบอกตำแหน่งที่มีอาการปวดได้อย่างชัดเจน และมีอาการปวดร้าวบริเวณใกล้เคียงร่วมด้วย เช่น ซ่า วูบ เหน็บชา หูอื้อ ตาพร่า อ่อนแรง เป็นต้น เมื่อได้รับการนวดผ่อนคลายจะมีอาการดีขึ้น แต่ผ่านไปสักระยะหนึ่งก็กลับมาเป็นอีกและเป็นเรื้อรังมากขึ้น ๆ หากปล่อยไว้ไม่ทำการรักษาจะเสี่ยงต่อโรคทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อที่รุนแรงตามมาได้
อาการของออฟฟิศซินโดรมที่พบบ่อย ๆ ไดัแก่
-ปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืดเรื้อรัง ไม่หายขาด มักมีอาการปวดแบบกว้าง ๆ ไม่สามารถชี้จุดหรือระบุตำแหน่งที่ปวดได้อย่างชัดเจน
-ปวดศีรษะบ่อยครั้ง หรือในบางครั้งมีอาการปวดหัวไมเกรนร่วมด้วย ซึ่งมีสาเหตุมาจากความเครียดหรือการที่ใช้สายตาเป็นระยะเวลานาน
-ปวดหลังเรื้อรัง เป็นอาการที่พบบ่อยในผู้ป่วยโรคออฟฟิศซินโดรม เนื่องจากการนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์หลายชั่วโมง นั่งไม่ถูกท่า หรือนั่งหลังค้อม อาจจะทำให้กล้ามเนื้อต้นคอเมื่อยและเกร็งอยู่ตลอด รวมถึงงานที่ต้องยืนนาน ๆ ในผู้หญิงที่ใส่ส้นสูงด้วย
-ปวดตึงที่ขาหรือเหน็บชา เกิดจากการนั่งนาน ๆ ทำให้เส้นเลือดดำถูกกดทับและส่งผลให้เลือดไหลเวียนผิดปกติ
-ปวดตา ตาพร่า เนื่องจากมองหน้าจอคอมพิวเตอร์นาน ๆ หรือใช้สายตาอย่างหนักเป็นเวลานาน
-มือชา นิ้วล็อก ปวดข้อมือ เพราะการใช้คอมพิวเตอร์ในท่าเดิมอย่างต่อเนื่อง ทำให้กล้ามเนื้อกดทับเส้นประสาทและเส้นเอ็นจนอักเสบ เกิดพังผืดทำให้ปวดปลายประสาทจนนิ้วหรือข้อมือล็อกได้
พฤติกรรมเสี่ยงต่อการเป็นออฟฟิศซินโดรม

– การนั่งทำงานด้วยท่าเดิมเป็นเวลานานโดยไม่ขยับเขยื้อนถึง 6 ชั่วโมงต่อวัน
-การอยู่ในสภาวะแวดล้อมหรืออุปกรณ์ทำงานที่ไม่เหมาะสม เช่น โต๊ะหรือเก้าอี้ต่ำหรือสูงกว่าสรีระร่างกาย
-มีความเครียดสะสม
-การได้รับสารอาหารไม่ครบ
-การพักผ่อนไม่เพียงพอ
อาการต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนส่งผลให้เกิดอาการออฟฟิศซินโดรมได้แทบทั้งสิ้น
การดูแลรักษาอาการออฟฟิศซินโดรม

เมื่อมีโรคเกิดขึ้นทางที่ดีควรปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู นักกายภาพบำบัด และอีกหลากหลายสาขาวิชาชีพ เพื่อรักษาอาการออฟฟิศซินโดรมแบบบูรณาการ เนื่องจากทีมแพทย์ที่มุ่งเน้นการรักษาโรคนี้โดยตรงนั้นจะมีความเข้าใจและมีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์หาสาเหตุอาการเพื่อวางแผนการรักษาด้วยการประเมินการจัดสมดุลของโครงสร้างร่างกาย และใช้เครื่องมือทางการแพทย์ในการบำบัดได้อย่างเหมาะสมในทุกมิติ
แต่อย่างไรก็ตาม แม้การทำกายภาพบำบัดเพื่อยืดกล้ามเนื้อ การนวดแผนไทย การฝังเข็ม หรือการใช้ยารักษาจะสามารถช่วยบรรเทาอาการออฟฟิศซินโดรมให้ดีขึ้นได้ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือการดูแลรักษาอาการออฟฟิศซินโดรมที่ต้นเหตุ โดยเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงาน จัดสภาพแวดล้อมในที่ทำงานให้เหมาะสม หมั่นขยับเขยื้อนร่างกายเล็ก ๆ น้อย ๆ ระหว่างวันบ้าง โดยพักสัก 10 - 15 นาที ไม่อยู่ในอิริยาบถเดิมนานเกิน 50 นาที เพียงเท่านี้ก็สามารถลดอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อจากการทำงานไม่ให้เป็นออฟพิศซินโดรมได้แล้ว
สิ่งที่หลาย ๆ คนเข้าใจผิดคือการเป็นออฟฟิศซินโดรมจะเกิดขึ้นเฉพาะพนักงานที่นั่งทำงานในออฟฟิศเท่านั้น แต่ในความจริงแล้วแม้แต่คนทั่วไปที่ต้องยืนบนส้นสูง คนขับรถ คนที่เล่นเกมหรือเล่นมือถือ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามในท่าทางเดิมเป็นเวลานาน ๆ ก็มีความเสี่ยงต่อการเป็นออฟฟิศซินโดรมได้ทั้งสิ้น แม้เป็นอาการที่ไม่เสี่ยงต่อชีวิต แต่ก็ควรดูแลดูตัวเองด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมเพื่อทำให้ใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่นยาวนาน
อ่านบทความเกี่ยวกับ การดูแลสุขภาพ เพิ่มเติม
เครดิตรูปภาพทั้งหมดจาก https://pixabay.com/th/