โรคหัวใจ เป็นภัยร้ายที่น่ากลัวอย่างยิ่ง และปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันนี้คนเป็นโรคหัวใจกันมากขึ้น หลายคนที่รู้ตัวทันสามารถรักษาโรคได้ทันเวลา แต่ขณะเดียวกันก็มีอีกหลายคนที่ไม่มีอาการใด ๆ แต่เมื่อรู้ตัวก็อาจสายไปเสียแล้ว ดังนั้นใครที่ไม่อยากเป็นโรคหัวใจจึงควรทำตาม 8 วิธีลดความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจดังต่อไปนี้
1.เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าอาหารเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพโดยตรง การรับประทานอาหารที่มีผัก ผลไม้ โปรตีนไขมันต่ำ ถั่ว เมล็ดธัญพืชต่าง ๆ รวมถึงการใช้น้ำมันที่ดีต่อสุขภาพ เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว น้ำมันคาโนล่าในการปรุงอาหารนั้นสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจได้ดี ซึ่งอาหารที่ดีมีประโยชน์นั้นหลาย ๆ คนคงเคยศึกษาและได้รู้จักกันมากพอสมควรอยู่แล้ว แต่ใครล่ะจะสามารถเลือกกินสิ่งดี ๆ เป็นของขวัญให้ร่างกายได้อย่างต่อเนื่องนั้นไม่ง่ายเลย แต่ถ้าหากคุณไม่อยากเสี่ยงเป็นหลายโรคก็ไม่ควรจะพลาดข้อนี้เป็นอันขาด เพราะมีคำกล่าวไว้ว่า “you are what you eat” ถ้าไม่อยากเป็นโรคหัวใจก็ควรคิดให้ดีก่อนจะกินอะไรเข้าไป
2.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศไหนและอยู่ในช่วงวัยใดก็ตาม การออกกำลังเบา ๆ เป็นประจำนั้นทำให้กล้ามเนื้อทุกส่วนแข็งแรง แม้แต่หัวใจก็สามารถฟิตขึ้นได้เพียงแค่ออกกำลังกายเท่านั้น แถมยังได้หุ่นที่ดีในแบบที่ทำอะไรก็ไม่เหนื่อยง่ายอีกต่างหาก เมื่อรู้แบบนี้แล้วก็ควรจะหันมาออกกำลังเพื่อลดความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและโรคอื่น ๆ กันดีกว่า
3.งดสูบบุหรี่
การสูบบุหรี่ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ปกติหรือบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงอุปกรณ์สูบประเภทต่าง ๆ นั้นเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิตอย่างทรมานในอนาคต โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจและหลอดเลือดจะยิ่งเป็นการเพิ่มปัญหาสุขภาพให้เรื้อรังและทรุดลง ๆ นอกจากนี้ควันจากบุหรี่ก็กลายเป็นบุหรี่มือสองให้กับผู้ที่อยู่ใกล้ ๆ คนที่สูบบุหรี่อีกด้วย เป็นการสร้างความเสียหายทั้งต่อตัวเองและต่อผู้อื่น ทางที่ดีควรจะลด ละ และเลิกบุหรี่ให้ได้โดยเด็ดขาดหากไม่อยากทรมานทั้งกายและใจ
4.นอนให้เพียงพอ
วัยผู้ใหญ่ควรนอนราว ๆ 7 - 8 ชั่วโมงต่อวัน และเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปีควรนอนรวมถึงงีบระหว่างวันประมาณ 10 – 16 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าการนอนหลับให้เพียงพอนั้นสามารถช่วยฟื้นฟู ซ่อมแซม และเสริมสร้างพัฒนาการการทำงานของสมอง รวมทั้งยังสามารถลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรังได้อีกด้วย ดังนั้นผู้ที่ไม่อยากป่วยออด ๆ แอด ๆ ก็ควรจะหาเวลานอนให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย
5.ควบคุมน้ำหนัก
หากไม่อยากมีปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจควรจะควบคุมระดับของน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติอยู่เสมอ โดยการคำนวณค่า BMI ให้ได้มาตรฐานของคนทั่วไป เพราะความอ้วนหรือความผอมเกินไปนั้นเสี่ยงต่อการทำร้ายหัวใจได้ไม่ต่างกันเลย การรักษาระดับน้ำหนักเอาไว้ให้คงที่จึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลย
6.ควบคุมคอเลสเตอรอล
หากระดับคอเลสเตอรอลที่ไม่ดีต่อร่างกายพุ่งสูงขึ้นก็ทำให้เป็นอันตรายต่ออวัยวะภายในได้ เพราะอาจเป็นสาเหตุของโรคไม่ติดต่อทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น โรคหัวใจ และหลอดเลือด หรือโรคอื่น ๆ ก็ตาม ทางที่ดีควรลดอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูงเกินไป กินผักผลไม้ที่มีน้ำตาลต่ำ และเลือกโปรตีนที่ให้ไขมันที่ต่ำให้มากขึ้นจะช่วยควบคุมคอเลสเตอรอลได้
7.ควบคุมระดับน้ำตาล
อาหารส่วนใหญ่ที่เรากินเข้าไปมักจะเปลี่ยนเป็นกลูโคสเพื่อที่ร่างกายนำไปใช้เป็นพลังงาน แต่ถ้าหากกินแป้งและน้ำตาลมากเกินไปจนมีกลูโคสในร่างกายมากเกินความจำเป็นก็จะทำให้มีน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ ส่งผลให้เป็นอันตรายต่อหัวใจและหลอดเลือดได้ และนำไปสู่โรคอันตรายอย่างเบาหวานได้อีกด้วย ดังนั้นจึงควรควบคุมระดับน้ำตาลให้เป็นปกติ หากน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นควรลดอาหารที่มีน้ำตาลสูงลง เช่น แป้งและน้ำตาลขัดสี แล้วให้เลือกกินอาหารที่มีกากใยอาหารเพิ่ม และออกกำลังกายเป็นประจำ เพียงเท่านี้ก็จะช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้แล้ว
8.ควบคุมความดันโลหิต
หากไม่อยากเสี่ยงเป็น โรคหัวใจ ก็ควรรักษาระดับความดันโลหิตให้เป็นปกติ คืออยู่ที่ 120/80 mm Hg ไม่ต่ำและสูงไปมากกว่านี้ แต่หากมีปัญหาความดันโลหิตก็ควรจะควรลดอาหารเค็ม ลดอาหารรสจัด ลดอาหารไขมันสูง และหันไปกินผักผลไม้ให้มากขึ้น นอกจากนี้ก็ต้องออกกำลังกายเป็นประจำ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอก็จะช่วยลดความดันโลหิตได้ ซึ่งจะทำให้หัวใจไม่ต้องทำงานหนักจนเสี่ยงเป็นโรคหัวใจนั่นเอง
หากอยากให้ โรคหัวใจ เป็นปัญหาไกลตัวก็อย่าลืมทำตามทั้ง 8 ข้อที่กล่าวมาอย่างเคร่งครัด เพราะนอกจากจะดีต่อใจแล้วก็ยังดีต่ออวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกายอีกด้วยเช่นกัน
อ่านบทความ 5 วิธีลดความเครียด ที่ช่วยได้จริง
เครดิตรูปภาพทั้งหมด : www.pexels.com