ร้อนใน เกิดจากอะไรคิดว่าหลาย ๆ คนคงต้องเคยประสบกับปัญหาร้อนในมาบ้าง อย่างน้อย ๆ ก็หนึ่งครั้งในชีวิต โดยจะมีแผลสีเหลืองหรือสีขาวล้อมรอบด้วยสีแดงเกิดขึ้นบริเวณในปาก ไม่ว่าจะเป็นกระพุ้งแก้ม ลิ้น เหงือก หรือเพดานปาก ฯลฯ ซึ่งอาการร้อนในนี้มีที่มาที่ไปแม้จะเป็นขึ้นมาเฉย ๆ ก็ตาม แต่จะมีความน่ากลัวหรืออันตรายมากน้อยแค่ไหนนั้นมาดูไปพร้อม ๆ กันด้านล่างนี้เลย
ร้อนใน เกิดจากอะไร?
เมื่อมีอาการร้อนในเกิดขึ้นในช่องปากนั่นหมายความว่าคุณกำลังมีพฤติกรรมบางอย่างดังต่อไปนี้
-เครียดสะสม
-ดื่มน้ำน้อยเกินไป
-พักผ่อนไม่เพียงพอ
-มีแผลกดทับ หรือเสียดสีจากฟันปลอมที่หลวมเกินไป หรือเหล็กดัดฟันไม่พอดีกับฟัน
-เผลอกัดเนื้อเยื่อข้างกระพุ้งแก้มตัวเอง
-แปรงฟันแรงเกินไปจนเกิดบาดแผล
-ขาดวิตามินบางชนิดและขาดเกลือแร่
-แพ้สารเคมี เช่น สารเคมีจากยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก เป็นต้น
-แพ้อาหารบางประเภท
-ติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสบางชนิด
-ทานอาหารรสจัดมากจนเกินไป
-สูบบุหรี่บ่อย
-ฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง เช่น ช่วงที่ผู้หญิงมีประจำเดือน
นอกจากนี้อาการร้อนในก็เกิดมาจากพันธุกรรมได้อีกด้วย หากคุณเป็นคนที่มีปัญหามีอาการร้อนในบ่อย ๆ ก็อาจจะเกี่ยวเนื่องมาจากพันธุกรรมในครอบครัว

ร้อนในอันตรายไหม?
การเป็นร้อนในนั้นทำให้เกิดอาการเจ็บแสบจนขยับริมฝีปากหรือทานอาหารได้ลำบากมากขึ้น แต่นอกเหนือจากนี้ก็ยังไม่พบอันตรายใด ๆ ในผู้ที่ป่วยเป็นร้อนใน เพราะโดยส่วนใหญ่แผลร้อนในนั้นสามารถหายได้เองตามธรรมชาติ
ร้อนใน รักษายังไง
คนที่เป็นร้อนในส่วนใหญ่มักจะหายเองได้ภายใน 1 – 2 สัปดาห์โดยที่ไม่ต้องรักษามากมายเท่าไหร่ แต่หากต้องการลดอาการบาดเจ็บหรือต้องการให้แผลหายเร็วขึ้นก็ควรควรจะปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้
1.บ้วนปากด้วยน้ำเกลือทุก 2 ชั่วโมงหรือหลังอาหารทุกมื้อจะช่วยบรรเทาอาการอักเสบ บวม แดง ได้
2.หลีกเลี่ยงน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้แผลร้อนในระคายเคืองและแห้งตึงจนเกินไป
3.หากมีแผลร้อนในที่ค่อนข้างใหญ่และลึกจนมีอาการเจ็บปวดมาก สามารถใช้ผ้าสะอาดพันปลายนิ้วเช็ดทำความสะอาดฟัน เหงือก และซอกฟันแทนการใช้แปรงสีฟันชั่วคราวได้
4.เลือกรับประทานอาหารที่มีลักษณะอ่อนนุ่ม เคี้ยวง่าย ย่อยง่าย
5.หลีกเลี่ยงอาหารทอดและอาหารรสจัด
6.หลีกเลี่ยงอาหารที่มีอุณหภูมิเย็นจัดและร้อนจัด
7.งดอาหารและสิ่งที่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองในช่องปาก เช่น เหล้า บุหรี่
8.นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6 ชั่วโมง
9.ดื่มน้ำให้เพียงพอ
10.หลีกเลี่ยงภาวะเครียด
11.ยาทาแก้ร้อนใน
12.ทานหรือดื่มสมุนไพรฤทธิ์เย็น เช่น ใบบัวบก มะระขี้นก ว่านรางจืด แตงกวา ผักกาดขาว หัวไชเท้าเก๊กฮวย รากบัว หล่อฮังก๊วย เป็นต้น แต่ก็ไม่ควรผสมน้ำตาลมากจนเกินไป

ภาวะแทรกซ้อนของอาการร้อนใน
หากเป็นแผลร้อนในและปล่อยไว้เป็นเวลานานโดยไม่ทำการรักษา อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ เช่น มีอาการเจ็บและลำบากในขณะพูด แปรงฟัน หรือรับประทานอาหาร เกิดความอ่อนเพลีย เป็นไข้ เกิดการอักเสบของผิวหนังบริเวณข้างเคียง เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยควรพบแพทย์หากเจ็บปวดมากจนทนไม่ไหว รักษาด้วยตัวเองแล้วไม่ได้ผล เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียที่อาจทำให้เกิดปัญหารุนแรง หรือเกิดภาวะแทรกซ้อน
วิธีป้องกันร้อนใน
หากคุณเป็นคนที่ไม่ต้องการให้อาการร้อนในกลายเป็นปัญหาเล็ก ๆ ในชีวิตก็สามารถดูแลตัวเองจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวันได้ดังนี้
1.ไม่ทานอาหารรสจัดและของทอดมากเกินไป
2.ดื่มน้ำให้เพียงพอ วันละ 6 – 8 แก้ว หรือ 1.5 – 3 ลิตร
3.นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
4.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่ปล่อยให้ตัวเองเครียดจนเกินไป
5.รักษาความสะอาดภายในช่องปากอย่างระมัดระวัง ไม่แปรงฟันแรงจนเกินไป
6.ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่

หากมีอาการดังต่อไปนี้ควรไปพบแพทย์
-แผลร้อนในที่ใหญ่กว่าปกติ
-มีแผลร้อนในเป็นจำนวนมาก
-เป็นแผลร้อนในนานเกิน 2 สัปดาห์
-แผลลุกลามไปยังบริเวณอื่น ๆ
-มีไข้สูง
-ไม่สามารถรับประทานอาหารได้เลย
ร้อนใน ไม่ใช่ปัญหาใหญ่โตเท่าไหร่นัก แต่สร้างความยุ่งยากเล็กน้อยในชีวิตประจำวันแต่เพียงเท่านั้น ซึ่งหากผ่านไปไม่กี่สัปดาห์เดี๋ยวก็หายไปเองตามธรรมชาติ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นถ้าหากแผลเป็นวงกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ และมีท่าทีว่าจะหายช้ามาก ๆ ก็ควรพบแพทย์ทันทีเพื่อป้องกันการอักเสบลุกลาม
อ่านบทความ 10 วิธีแก้แฮงค์ สำหรับสายเที่ยว ตี้เก่งๆต้องอ่าน
เครดิตรูปภาพทั้งหมด : www.pixabay.com