
หลาย ๆ ครั้งที่วูบ หน้ามืด หรือมีอาการปวดเศียรเวียนเกล้าขึ้นมาจะต้องมีคำถามว่าที่เกิดขึ้นกับเราจะใช่อาการ ปวดหัวไมเกรน หรือเปล่า หรือว่าเป็นอาการปวดหัวแบบธรรมดาทั่วไป แล้วอาการปวดหัวไมเกรนมาจากไหน ใครที่มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้บ้าง แล้วถ้าเป็นแล้วจะจัดการกับมันได้ไหม เรื่องนี้มีคำตอบ
ไมเกรนคืออะไร

ไมเกรนเป็นโรคทางระบบประสาทที่มีอาการปวดหัวรุนแรงชนิดหนึ่ง เกิดจากความผิดปกติชั่วคราวของระดับสารเคมีและคลื่นไฟฟ้าในสมองทำให้ก้านสมองถูกกระตุ้น หลอดเลือดในเยื่อหุ้มสมองมีการบีบและคลายตัวมากกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการปวดหัวตุ๊บ ๆ หรือมีอาการคลื่นไส้อาเจียน และแพ้แสงจากก้านสมองที่ถูกกระตุ้นนั้นเอง
ปวดหัวไมเกรน มีอาการอย่างไร
ปวดหัวไมเกรน เรียกได้ว่าเป็นการปวดหัวที่รบกวนชีวิตประจำวันอย่างยิ่ง โดยมีลักษณะอาการปวดแบบตุ๊บ ๆ เป็นจังหวะ มักจะเกิดอาการปวดหัวเพียงข้างเดียว แต่บางครั้งก็สามารถเป็นทั้งสองข้างได้ โดยอาการปวดในช่วงแรกมักมีความรุนแรงเพียงเล็กน้อย และจะค่อย ๆ เพิ่มความรุนแรงขึ้น ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนแรง และไวต่อแสง เสียง หรือกลิ่นมากขึ้น บางรายก็อาจมีอาการอื่นนำมาก่อนจะปวดหัวไมเกรน เช่น เห็นแสงไฟวาบ เห็นแสงสีขาวเป็นเส้นซิกแซก เห็นภาพมืดเป็นบางส่วน มีอาการชาตามส่วนต่าง ๆ แขนกับขาอ่อนแรง หูอื้อ มีปัญหาเรื่องการพูด เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะเป็นก่อนเกิดอาการปวดหัวไมเกรนประมาณ 1 ชั่วโมง
ไมเกรนมีสาเหตุมาจากอะไร
ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่าโรคไมเกรนมาจากสาเหตุหลัก ๆ อะไรกันแน่ แต่ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดโรคนี้นั้นมาจากสภาพแวดล้อมในชีวิตประจำวันที่มีส่วนทำให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรนได้ เช่น
-แสงจ้าจากแสงแฟลชหรือแสงจากดวงอาทิตย์

-อากาศที่ร้อนจัด
-เสียงดังรบกวน
-ความเครียด
-กลิ่นที่รุนแรง เช่น น้ำหอมที่ฉุนจัด
-การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแบบฉับพลัน เช่น การเดินทางด้วยเครื่องบิน
-การใช้ยาบางชนิด

-นอนหลับไม่เพียงพอหรือนอนมากเกินไป
-การใช้สายตาเป็นเวลานาน ๆ
-การออกกำลังกายอย่างหักโหม หรือการทำกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายมากเกินไป
-การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น การมีประจำเดือน ภาวะหลังคลอดบุตร การเข้าสู่วัยทอง เป็นต้น
-รับประทานและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ หรืออาหารบางชนิดที่อาจไปกระตุ้นอาการไมเกรน
-การสูบบุหรี่
เป็นต้น
ปวดหัวไมเกรน รักษาได้อย่างไร
การดูแลตัวเองเมื่อมีอาการปวดหัวไมเกรน สามารถทำได้โดยการกินยาตามที่แพทย์หรือเภสัชกรสั่งให้เท่านั้น เพราะยาแต่ละชนิดมีผลข้างเคียงที่ต่างกัน คนเราไม่สามารถกินยาพารา ฯแล้วหายจากทุกอาการปวดได้ การพบผู้เชี่ยวชาญและทำตามคำแนะนำจึงเป็นสิ่งที่ควรทำแม้มีอาการปวดระดับเบาบางก็ตาม แต่ถึงอย่างไรก็ไม่ควรกินยาบ่อยจนเกินไปนอกจากแพทย์จะสั่งเท่านั้น
และแม้ไมเกรนเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ พบได้ทั่วไปตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยเฉพาะวัยทำงานที่เนื่องมาจากสภาวะแวดล้อมที่มีความเครียดสูง และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายก็ตาม แต่สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งคือการดูแลไม่ให้อาการปวดหัวไมเกรนเพิ่มมากขึ้น ได้แก่
-ลดความเครียดลง
-หาเวลาพักผ่อน

– ทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลาย เช่น การนวด วาดรูป ระบายสี
-นอนหลับให้เพียงพอ
-หมั่นออกกำลังกายเบา ๆ เป็นประจำ
-ดื่มน้ำสะอาดให้พอดีหรืออย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน
-หลีกเลี่ยงปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดไมเกรน เช่น การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์ อากาศร้อน แสงแดด ความหิว หรืออาหารบางจำพวก เช่น ชีส อาหารแปรรูป ผงชูรส น้ำตาลเทียม เป็นต้น
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเหล่านี้จะมีส่วนช่วยให้อาการปวดหัวไมเกรนทุเลาลงได้ และดีกว่าการกินยาเพื่อกดอาการลงเสียอีก
อย่างที่ได้ทราบในเบื้องต้นว่าไมเกรนเป็นโรคปวดหัวเรื้อรังที่รักษาไม่หายขาด แต่การรักษาด้วยการดูแลชีวิตประจำวันให้ดีนั้นจะช่วยให้ผู้ป่วยบรรเทาความปวด ลดความถี่ในการเกิดไมเกรน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิมได้ การหันกลับมาดูแลตัวเองและยอมปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ไม่ทำแบบเดิม ๆ เพราะรู้ตัวว่าไม่ส่งให้เกิดผลดีจึงมีความจำเป็นในการช่วยรักษาอาการปวดหัวไมเกรนมากกว่า
อ่านบทความทั้งหมดที่เกี่ยวกับ ความรู้เรื่องสุขภาพ
เครดิตรูปภาพทั้งหมดจาก https://pixabay.com/th/