อาการปวดท้องเป็นอาการป่วยที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้ป่วย ซึ่งหลาย ๆ คนเองก็คงเคยมีประสบการณ์ปวดท้องเล็ก ๆ น้อย ๆ กันมาบ้าง ไม่ว่าจะปวดเพราะอาการจากโรคใด ๆ ก็ตาม แต่รู้ไหมว่าการปวดท้องแต่ละข้างนั้นสามารถแยกหรือจำแนกโรคได้ด้วย สำหรับวันนี้ทางเพจจะมาบอกเล่าเรื่องอาการ ปวดท้องข้างซ้าย ให้ได้รู้กันก่อน ซึ่งการปวดท้องข้างซ้ายนั้นแยกออกเป็นส่วนบนกับส่วนล่าง เนื่องจากอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายอยู่ในตำแหน่งที่ต่าง ๆ กันไป จึงทำให้ตรวจสอบอาการของโรคที่น่าจะมีความเกี่ยวข้องได้แบบคร่าว ๆ
ปวดท้องข้างซ้าย ส่วนบน
-กรดไหลย้อน
เมื่อกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหารอาจทำให้เกิดการระคายเคืองบริเวณดังกล่าว ผู้ป่วยอาจรู้สึกแสบร้อนกลางอก เจ็บหน้าอก จุกแน่นในลำคอ ไอ ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น รวมถึงประสบปัญหาการกลืนอาหารไม่ค่อยได้อีกด้วย
-ท้องผูก
เนื่องจากบริเวณช่องท้องส่วนบนเป็นที่อยู่ของอวัยวะสำคัญอย่าง ลำไส้ใหญ่ จึงทำให้ผู้มีอาการท้องผูกรู้สึกปวดท้องข้างซ้ายส่วนบนได้ ซึ่งอาการท้องผูกนี้เกิดขึ้นจากการที่อุจจาระตกค้างอยู่ภายในลำไส้ใหญ่จนไม่สามารถเคลื่อนตัวได้ตามปกติ ผู้ที่มีอาการนี้จึงเกิดความรู้สึกอึดอัด อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดกลิ่นปากและกลิ่นตัวที่ไม่พึงประสงค์ได้อีกด้วย
-แก๊สในกระเพาะอาหาร
เครื่องดื่มหรืออาหารบางชนิดที่รับประทานเข้าไปอาจทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหารได้ บางกรณีส่งผลให้เกิดอาการปวดท้องข้างซ้ายส่วนบนไปจนถึงอาการจุกเสียด แน่นท้อง ทำให้อึดอัด
-กระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ
การรับประทานอาหารที่ไม่สดสะอาด มีสารปนเปื้อน มีเชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรียนั้นเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการเกิดโรคกระเพาะอาหารและลำไส้ ซึ่งอาจมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง มีอุจจาระร่วงแบบเฉียบพลัน คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ไปจนถึงภาวะขาดน้ำ
-โรคลำไส้แปรปรวน
เป็นภาวะที่ลำไส้ทำงานผิดปกติจนทำให้เกิดอาการปวดท้องหรือปวดเกร็งหน้าท้อง อาจมีอาการท้องเสียหรือท้องผูก อุจจาระมีเมือกใสหรือสีขาวปนออกมาโดยไม่มีเลือดปน อุจจาระไม่สุด เรอ และมีแก๊สในท้อง ซึ่งผู้ป่วยแต่ละคนอาจมีอาการและระดับความรุนแรงแตกต่างกันออกไป โดยอาการจะดีขึ้นหลังจากถ่ายอุจจาระออกมา
-โรคที่มีการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร
เช่น โรคลำไส้อักเสบกับโรคโครห์น ผู้ป่วยอาจมีอาการตั้งแต่เหนื่อยล้า อ่อนแรง มีไข้ ปวดเกร็งหน้าท้อง หรือปวดท้อง ท้องเสีย ถ่ายเป็นเลือด น้ำหนักลดโดยไม่ได้ตั้งใจ ไปจนถึงรู้สึกเบื่ออาหาร
-ตับอ่อนอักเสบ
เกิดขึ้นได้ทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง หากเป็นอาการเฉียบพลันอาจทำให้มีอาการปวดท้องลามไปจนถึงหลัง ซึ่งอาการปวดท้องจะแย่ลงหลังรับประทานอาหาร กดหน้าท้องแล้วเจ็บ มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน หรือชีพจรเต้นเร็ว ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการแบบเรื้อรังอาจจะปวดท้องข้างซ้ายส่วนบนและมีน้ำหนักลดโดยไม่ได้ตั้งใจ อุจจาระมีกลิ่นเหม็นหรือมีไขมันมาก ซึ่งอาจเป็นผลพวงมาจากการกินยาบางชนิดหรือการดื่มแอลกอฮอล์บ่อย ๆ

-อาหารเป็นพิษ
ภาวะอาหารเป็นพิษเกี่ยวข้องกับอาการปวดท้องข้างซ้ายส่วนบนเพราะมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อที่มาจากอาหารอย่างเฉียบพลัน อาจมีอาการคลื่นไส้ ปวดศีรษะ อาเจียน ปวดเนื้อปวดตัว รวมถึงมีไข้สูงร่วมด้วย ซึ่งจะเริ่มแสดงอาการภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากการรับประทานอาหาร
-อาการปอดบวม
อาการปอดบวมเกิดจากการติดเชื้อแล้วขยายตัวจนไปกดทับอวัยวะสำคัญที่อยู่ใกล้เคียงในบริเวณซีกซ้ายของร่างกาย ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดท้องข้างซ้ายส่วนบนได้ ส่งผลให้หายใจได้ลำบาก เจ็บหน้าอก มีไข้สูง ตัวหนาวสั้น รวมถึงมีอาการไออย่างรุนแรงเกิดขึ้นด้วย

-ม้ามโต
ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ และอาจเกิดจากโรคหรือภาวะต่าง ๆ รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับตับ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอิ่มแม้รับประทานอาหารเพียงเล็กน้อย และอาจมีอาการปวดหลังหรือไหล่ได้อีกด้วย
-โรคหัวใจ
แม้จะดูแปลกและไม่น่ามีส่วนเกี่ยวข้องกันเลย แต่การปวดท้องข้างซ้ายส่วนบนก็นับเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่บอกถึงการเริ่มต้นเป็นโรคหัวใจได้ ซึ่งการปวดท้องเป็นเพียงขั้นแรกที่จะนำไปสู่ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ประกอบกับอาการอื่น ๆ ที่จะเกิดตามมา โดยลักษณะของการปวดนั้นจะเป็นการปวดแบบเสียด ๆ หรือปวดตื้อ ๆ แล้วค่อยเพิ่มความรุนแรงของอาการขึ้นจนทำให้ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ รวมไปจนถึงทำให้นอนไม่หลับ และอาเจียนบ่อยครั้ง

-หัวใจขาดเลือด
เป็นภาวะที่เป็นอันตรายถึงชีวิต มักทำให้ผู้ป่วยมีอาการแน่น เจ็บหน้าอก รู้สึกว่าแขนคล้ายถูกบีบ อาจลามไปยังกราม แผ่นหลัง หรือคอได้ด้วย ภาวะนี้ยังส่งผลให้รู้สึกเมื่อยล้า เวียนศีรษะฉับพลัน คลื่นไส้ อาหารไม่ย่อย แสบร้อนกลางอก ปวดท้อง หายใจไม่อิ่ม และเหงื่อออกขณะที่ร่างกายเย็น
-โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
เกิดจากการอักเสบและบวมของเยื่อหุ้มที่ล้อมรอบหัวใจ ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บแปลบที่หน้าอกช่วงกลางหรือข้างซ้ายเมื่อหายใจเข้า รู้สึกเหนื่อย อ่อนแรง ไอ ท้องหรือขาบวมผิดปกติ หายใจไม่อิ่มขณะนอนหรือเอนกาย ใจสั่น และมีไข้ต่ำ ๆ
ปวดท้องข้างซ้ายส่วนล่าง
-โรคถุงผนังลำไส้อักเสบ
อาการนี้เกิดขึ้นได้จากแรงดันภายในลำไส้ใหญ่ก่อให้เกิดกระเปาะขนาดเล็กขึ้นที่ผนังลำไส้ หากกระเปาะเกิดการฉีกขาด บวม หรือติดเชื้อก็อาจส่งผลให้ถุงผนังลำไส้อักเสบได้ โรคนี้พบได้ทั่วไปในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ซึ่งอาจทำให้มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูกหรือท้องเสีย มีอาการกดแล้วเจ็บเมื่อสัมผัสหน้าท้อง
–แก๊ส
แก๊สมักพบได้ในกระเพาะอาหารไปจนถึงทวารหนัก ซึ่งเกิดขึ้นจากการกลืนอาหารและย่อยอาหาร โดยจะถูกขับออกมาผ่านการเรอและผายลม แต่แก๊สอาจยังคงอยู่และมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยได้ เช่น อาเจียน ท้องเสีย ท้องผูก น้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุ แสบร้อนกลางอก อุจจาระปนเลือด เป็นต้น

-อาหารไม่ย่อย
กระเพาะอาหารจะผลิตกรดออกมาเมื่อรับประทานอาหาร ซึ่งกรดนั้นอาจทำให้หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร หรือลำไส้เกิดการระคายเคือง ส่งผลให้อาหารไม่ย่อยหรือมีอาการปวดท้องส่วนบน รู้สึกอิ่ม ท้องอืด เรอ ผายลม หรือคลื่นไส้หลังรับประทานอาหาร
-โรคไส้เลื่อน
เป็นภาวะที่ชั้นไขมันหรือบางส่วนของลำไส้เล็กเคลื่อนออกมาจากตำแหน่งเดิมจนมีลักษณะเป็นก้อนตุงอยู่บริเวณช่องท้องหรือขาหนีบ ผู้ป่วยอาจมีก้อนตุงที่ขยายใหญ่ขึ้น ปวดบริเวณที่ไส้เลื่อนมากขึ้น ปวดเมื่อยกสิ่งของ ปวดตื้อ ๆ หรือรู้สึกแน่นท้องได้
-โรคไต
เมื่อเกิดการติดเชื้อขึ้นที่บริเวณไตหรือมีนิ่วขึ้นในไตจะทำให้มีอาการปวดท้องข้างซ้ายส่วนล่าง โดยอาการไตอักเสบจะมาพร้อมกับอาการปวดท้องข้างซ้ายล่างแบบเฉียบพลัน ปวดปัสสาวะตลอดเวลา มีอาการปวดแสบปวดร้อนขณะที่ปัสสาวะ หรืออาจปัสสาวะเป็นเลือดร่วมด้วย ในขณะที่อาการนิ่วในไตนั้นจะมาพร้อมกับไข้สูง มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ร่วมกับอาการปวดหน่วง ๆ ที่บริเวณต้นขา
-การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
ส่งผลให้เกิดการปวดท้องข้างซ้ายส่วนล่าง ปัสสาวะติดขัด รวมถึงเกิดความรู้สึกปวดท้องน้อยในขณะที่ปัสสาวะ ถ้าหากปล่อยไว้อาจทำให้เกิดการติดเชื้อลุกลามไปยังไตได้ และกลายเป็นโรคไตในที่สุด
-ซีสต์ในรังไข่
การเกิดซีสต์ในรังไข่เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการปวดท้องข้างซ้ายส่วนล่างได้ โดยจะมีอาการปวดหน่วง ๆ ทำให้ปัสสาวะบ่อย ประจำเดือนมาผิดปกติ

-โรคที่ส่งผลต่อผู้หญิงโดยเฉพาะ
การปวดท้องข้างซ้ายส่วนล่างของผู้หญิงมักเป็นปัญหาเกี่ยวกับรังไข่และมดลูก เช่น การปวดประจำเดือน เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ถุงน้ำในรังไข่ ภาวะรังไข่บิดขั้ว การตั้งครรภ์นอกมดลูก และการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน เป็นต้น
-โรคที่ส่งผลต่อผู้ชายโดยเฉพาะ
โรคไส้เลื่อนขาหนีบและภาวะอัณฑะบิดขั้วอาจส่งผลให้ผู้ชายเกิดการปวดท้องข้างซ้ายส่วนล่างเช่นกัน
อาการปวดท้องข้างซ้ายแม้เป็นอาการเล็ก ๆ แต่หากเกิดขึ้นนาน ๆ เข้าก็บ่งบอกถึงโรคที่อาจส่งผลร้ายแรงได้ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามไม่ว่าร่างกายจะส่งสัญญาณเตือนใด ๆ ออกมาบ่อย ๆ ก็ควรเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อจะได้รักษาได้ทันการ
อ่านบทความ อยากนอนแต่ นอนไม่หลับ มีสาเหตุมาจากอะไรพร้อมวิธีแก้ไข
เครดิตรูปภาพทั้งหมด : www.pixabay.com