นิ้วล็อค จัดเป็นภัยที่ใกล้ตัวเพราะเกิดขึ้นที่บริเวณมือหรือนิ้วของเราที่ต้องใช้งานอยู่บ่อย ๆ นั่นเอง สำหรับคนวัยทำงานที่ต้องใช้มือในการประกอบอาชีพอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันก็คงไม่พ้นมีอาการนิ้วล็อคเข้าในสักวันหนึ่ง หรือแม้แต่ในยุคปัจจุบันที่ผู้คนหันมาเล่นโทรศัพท์มือถือกันมากขึ้นก็ส่งผลให้มีโอกาสเกิดอาการนิ้วล็อคมากขึ้นด้วย
ใครเสี่ยงเป็นนิ้วล็อคบ้าง ?
ไม่ว่าจะเพศไหน วัยไหนก็มีความเสี่ยงเป็น นิ้วล็อค ได้หากทำงานที่ต้องใช้นิ้วในลักษณะท่าเดิมนาน ๆ แต่โดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับผู้หญิงวัยกลางคน อายุ 40 – 60 ปี ซึ่งอาการนิ้วล็อคนี้เป็นส่วนหนึ่งของโรคออฟฟิศซินโดรม เนื่องจากเกิดขึ้นกับพนักงานบริษัทที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์พิมพ์งานบ่อย ๆ นอกจากนี้ผู้ที่เป็นเบาหวาน โรคไต โรคเก๊าท์ หรือโรครูมาตอยด์ก็เพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเป็นนิ้วล็อคมากกว่าผู้ที่ไม่เป็นโรคดังกล่าวอีกด้วย
สาเหตุของอาการนิ้วล็อค
นิ้วล็อค คืออาการที่นิ้วมีการหดเกร็ง ทำให้นิ้วขยับได้ไม่ดี หรือเมื่องอนิ้วแล้วนิ้วไม่สามารถเหยียดกลับมาแบบเดิมได้ เป็นการอักเสบของเส้นเอ็นหรือเยื่อหุ้มเส้นเอ็นมีการหนาตัวขึ้นเป็นพังผืด ขาดความยืดหยุ่นจนเส้นเอ็นเคลื่อนผ่านไม่สะดวก ซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่ใช้นิ้วมือทำอะไรซ้ำ ๆ เดิม ๆ เป็นระยะเวลานาน ๆ เช่น การพิมพ์คีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ การเล่นโทรศัพท์มือถือ หรือแม้แต่การถือของจ่ายตลาดนาน ๆ เป็นต้น
อาการนิ้วล็อคแบ่งออกเป็น 4 ระยะ
ระยะที่ 1 มีอาการเจ็บบริเวณโคนนิ้วมือหรือฐานนิ้วมือ
ระยะที่ 2 มีอาการสะดุดเวลากำหรือเหยียดนิ้วมือ แต่ยังสามารถเหยียดนิ้วได้เอง
ระยะที่ 3 กำมือแล้วเกิดอาการล็อค ไม่สามารถเหยียดนิ้วเองได้ ต้องใช้มือมาช่วยง้างออก หากมีอาการมากขึ้นจะไม่สามารถงอนิ้วลงได้เอง ซึ่งจะเข้าสู่ระยะสุดท้าย
ระยะที่ 4 มีอาการอักเสบและบวม ไม่สามารถกำมือได้สุด และอาจมีข้อนิ้วมืองอผิดรูปร่วมด้วย
การดูแลอาการนิ้วล็อคเบื้องต้น
1.พักการใช้มือเป็นระยะเวลาติดต่อกัน อาจจะเปลี่ยนอิริยาบถบ้างเพื่อให้กล้ามเนื้อบริเวณนิ้วมือคลายลง หากเป็นหนักเข้าก็ควรงดกิจกรรมที่ทำให้มือต้องใช้งานหนักลงสักสัปดาห์เพื่อเฝ้าดูอาการ
2.ประคบเย็นเพื่อให้อาการนิ้วล็อคกลับมาดีขึ้น หรืออาจจะนำมือแช่น้ำอุ่น ๆ เพื่อให้อาการทุเลาลงก็ได้
3.ออกกำลังกายยืดเส้นเพื่อให้นิ้วกลับมาใช้งานได้เป็นปกติ หากกล้ามเนื้อได้รับการยืดหดบ้างก็จะทำให้ผ่อนคลายลง โดยอาจใช้ท่ากำแบ 6 – 10 ครั้งต่อเซ็ต ซึ่งก็ควรจะยืดช่วงแขน ไหล่ ไปจนถึงลำคอด้วยเช่นกันเพราะร่างกายส่วนนี้มีความสัมพันธ์กันทั้งหมด แบบนี้จะทำให้อาการนิ้วล็อคคลายเร็วมากขึ้น
4.หากไม่ต้องการลืมตัวจนเผลอใช้งานนิ้วมือมากจนเกินไปก็ควรหาอุปกรณ์ดามนิ้วมือมาสวมใส่ นอกจากจะช่วยให้นิ้วได้พักการทำงานแล้วก็ยังช่วยไม่ให้ถูกใช้งานในที่ทำงานบ่อยจนเกินไป เพราะบางคนอาจจะไม่เข้าใจว่านิ้วล็อคเป็นปัญหาสุขภาพที่ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย ดังนั้นจึงควรระมัดระวังเอาไว้ก่อน
5.ในกรณีที่เป็นหนักมาก ๆ ก็ควรพบแพทย์เพื่อทำการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าบริเวณปลอกหุ้มเอ็น หากยังไม่หายก็อาจต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดตามที่แพทย์เห็นสมควร เนื่องจากการฉีดยาบ่อย ๆ จะทำให้เอ็นเปื่อยและฉีกขาดได้ บางครั้งการผ่าตัดจึงเป็นทางเลือกที่ได้ผลที่ดีกว่า
6.พยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ทำอะไรซ้ำ ๆ เดิม ๆ เป็นระยะเวลานาน ๆ เพราะอาการนิ้วล็อคเกิดจากการทำอะไรแบบเดิมบ่อย ๆ นาน ๆ นั่นเอง
แม้อาการนิ้วล็อคจะเป็นปัญหาสุขภาพเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่หากปล่อยไว้นาน ๆ ก็อาจจะกลายเป็นปัญหาเรื้อรังได้ ซึ่งควรจะแก้ไขด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเดิมให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น เพราะส่วนใหญ่ปัญหาเหล่านี้มาจากพฤติกรรมที่เสี่ยงทำร้ายสุขภาพร่างกายทั้งสิ้น ทางที่ดีควรจะหมั่นออกกำลังกายยืดเส้นยืดสายเป็นประจำเพื่อสุขภาพที่ดีระยะยาว
อ่านบทความ น้ำมันมะพร้าว กับ 10 คุณประโยชน์ที่ดีต่อสุขภาพ
เครดิตรูปภาพทั้งหมด : www.pixabay.com