ใครที่ นอนกัดฟัน หรือมีคนใกล้ตัวที่นอนกัดฟันก็คงจะตั้งคำถามในใจว่าอาการนอนกัดฟันนี้เป็นอันตรายไหม แล้วมันเกิดขึ้นจากอะไร จะพอมีทางยับยั้งได้บ้างหรือเปล่า เรื่องนี้มีคำตอบ…
อาการนอนกัดฟันเกิดขึ้นได้ยังไง
การนอนกัดฟันนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งวัยผู้ใหญ่และวัยเด็ก อาจเกิดในช่วงกลางวันหรือกลางคืนก็ได้ ซึ่งเป็นอาการที่ผิดปกติขณะนอนหลับเพราะระบบบดเคี้ยวดันทำงานนอกหน้าที่ ทำให้กล้ามเนื้อที่ใช้บดเคี้ยวหดตัวผิดปกติ โดยจะมีลักษณะของการขบเน้นฟันแน่น ๆ หรือฟันบนฟันล่างบดถูซ้ำ ๆ กันไปมา ผู้ที่มีอาการนอนกัดฟันอย่างรุนแรงอาจมีการกัดฟันมากกว่า 80 ถึง 100 ครั้งในหนึ่งคืน และคนนอนกัดฟันส่วนใหญ่ก็มักจะไม่รู้ตัวว่ากำลังทำสิ่งนี้อยู่ ซึ่งจัดเป็นภัยเงียบที่มีความอันตรายหากปล่อยเอาไว้นาน ๆ แม้ว่าจะยังไม่มีการระบุสาเหตุของการนอนกัดฟันที่แน่ชัด แต่อาจจะเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม ความเครียด การกินยาบางประเภทที่ทำงานในการปรับสารในสมอง หรืออาจจะมีปัจจัยอื่น ๆ อีก เช่น ผู้ที่มีบุคลิกและนิสัยก้าวร้าว ชอบการแข่งขัน สมาธิสั้น สามารถเพิ่มโอกาสในการนอนกัดฟันได้ แม้แต่การสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำก็มีส่วนทำให้นอนกัดฟันได้ด้วยเช่นเดียวกัน
อันตรายจากการนอนกัดฟัน
แม้ว่าการ นอนกัดฟัน จะดูเหมือนเป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่สร้างความรำคาญให้กับคนที่นอนร่วมเตียงเท่านั้น แต่อาการนี้กลับส่งผลเสียให้กับผู้ที่นอนกัดฟันได้ด้วย เพราะจะทำให้มีปัญหาฟันสึก ฟันสั้นลง ฟันบิ่น ฟันแตกร้าว ฟันบาง หรือมีอาการเสียวฟันตามมา หากฟันสึกจนทะลุโพรงประสาทฟันก็จะทำให้ปวดฟันจนเคี้ยวไม่ได้ นอกจากนี้ก็ยังทำให้มีอาการปวดเมื่อกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าและข้อต่อขากรรไกรจนเคี้ยวอาหารไม่คล่องอีกด้วย
การสังเกตว่าเป็นคนนอนกัดฟันไหม
หากคุณเป็นคนที่มีคนใกล้ตัวนอนร่วมเตียงหรือร่วมห้องกันก็คงจะได้รู้จากพวกเขาเหล่านี้ได้ง่าย ๆ ว่าเป็นคนนอนกัดฟันหรือไม่ แต่ถ้าคุณตัวคนเดียว ไม่ได้มีใครอยู่เป็นเพื่อน และอยากรู้ว่าในตอนกลางคืนนั้นตนเองได้นอนกัดฟันหรือเปล่า ก็ให้สังเกตในตอนตื่นนอนว่ามีอาการเมื่อยตึงที่ขมับใบหน้าหรือต้นคอไหม มีอาการตึง, ชาที่ฟันหรือเปล่า แล้วกันฟันแล้วรู้สึกเจ็บหรือเสียวฟันหลายซี่ไหม หากหลังตื่นนอนแล้วปรากฏว่ามีครบทุกประการก็ฟันธงได้เลยว่าเมื่อคืนคุณได้นอนกัดฟันตลอดคืนนั่นเอง แต่ถ้ายังไม่แน่ชัดก็สามารถตรวจการนอนที่โรงพยาบาลเพื่อวัดการทำงานของกล้ามเนื้อบดเคี้ยวขณะนอนหลับได้ ซึ่งก็เป็นวิธีที่รวดเร็วทันใจไม่ต้องเดาให้เหนื่อย
วิธีแก้อาการนอนกัดฟัน
สำหรับหนทางรักษาการนอนกัดฟันจะมี 2 วิธีด้วยกัน
วิธีแรกคือการรักษากับทันตกรรมโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการจัดฟันเพื่อให้ฟันเรียงตัวอย่างเหมาะสม การปรับแต่งผิวฟันให้เรียบสม่ำเสมอกันเพื่อให้สามารถเคี้ยวอาหารได้อย่างราบรื่น หรือการใส่เฝือกสบฟันระหว่างนอนหลับก็จะช่วยป้องกันผลเสียที่ตามมาจากการนอนกัดฟันได้ และยังช่วยลดอาการตึงเกร็งของกล้ามเนื้อขากรรไกรได้อีกด้วย
วิธีที่สองจะเป็นการรักษาการนอนกัดฟันด้วยการบำบัดทางจิตใจ ต้องหมั่นทำสมาธิ ฟังเพลงเบา ๆ หากิจกรรมที่ผ่อนคลายทำเพื่อให้เกิดความผ่อนคลายและลดความเครียด แต่การเล่นเกมหรือการใช้โซเชียลมีเดียนาน ๆ จะไม่นับเป็นกิจกรรมที่ผ่อนคลายเพราะมักส่งผลต่อความเครียดมากกว่า อันที่จริงการออกกำลังกายก็ช่วยให้ความเครียดลดลงได้ดีเนื่องจากทำให้หลอดเลือดขยายตัวไปหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้เต็มที่ ทำให้สมองรู้สึกปลอดโปร่งและสดชื่นนั่นเอง
การป้องกันการนอนกัดฟัน
สำหรับใครที่ไม่เคยนอนกัดฟันมาก่อนและเริ่มกังวลว่าในอนาคตอาจจะนอนกัดฟันได้ก็มีวิธีกันไว้ก่อนแก้ทีหลังด้วยเช่นกัน ซึ่งก็ได้แก่การหลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติดหรือเครื่องดื่มมึนเมาทั้งหลาย เพราะจะส่งผลให้ระบบประสาททำงานแปรปรวนจนอาจมีความเสี่ยงกลายเป็นคนนอนกัดฟันได้ และควรจะเลิกพฤติกรรมบางอย่าง เช่น การกัดปากกาหรือดินสอขณะใช้ความคิด การกัดหลอดดูดน้ำขณะดื่มน้ำ และเลิกอดหลับอดนอนหรือนอนดึก ๆ เพราะการเป็นคนที่นอนอย่างมีประสิทธิภาพจะไม่ค่อยมีความเสี่ยงในเรื่องของการกลายเป็นคนนอนกัดฟัน
เมื่อรู้อย่างนี้แล้วก็อย่าลืมตรวจสุขภาพปากและฟันกับทันตแพทย์เป็นประจำทุกปีจะดีกว่า เพราะไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่ นอนกัดฟัน หรือไม่ แต่การได้ไปตรวจสุขภาพช่องปากอยู่เสมอก็จะช่วยป้องกันโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับปากและฟันได้อย่างทันท่วงที
อ่านบทความ 7 วิธีแก้ปัญหา ตาแห้ง ให้หมดไป
เครดิตรูปภาพทั้งหมด : www.pixabay.com