เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินกันมาบ้างว่าตากระตุกข้างขวาจะนำพาเรื่องร้าย ส่วน ตากระตุก ข้างซ้ายจะเจอแต่เรื่องดี ๆ แต่ปัจจุบันนี้เรื่องดังกล่าวถูกลบล้างไปจากสมองของคนไทยเราไปเยอะมาก ๆ เพราะในทางการแพทย์เรื่องของการตากระตุกนั้นเป็นสัญญาณเตือนเกี่ยวกับความผิดปกติบางอย่างของร่างกายมากกว่าจะเกี่ยวกับเรื่องโชคลาง
ภาวะหนังตากระตุก
สาว ๆ หรือหนุ่ม ๆ ที่มีอาการตากระตุก (Eyes Twitching) หรือตาเขม่นต้องรู้ก่อนว่า การที่กล้ามเนื้อเปลือกตามีการขยับเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว หรือที่เรียกว่ามีอาการเกร็งกระตุก สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งเปลือกตาบนและเปลือกตาล่าง แต่โดยปกติแล้วจะเกิดขึ้นที่เปลือกตาบนมากกว่า ซึ่งอาการตากระตุกจะไม่ค่อยแสดงอาการที่รุนแรงเท่าไรนัก และไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด แต่สำหรับบางคนก็อาจมีอาการรุนแรงจนไม่สามารถปิดตาให้สนิทลงพร้อมกันได้ หรืออาจถึงขั้นลืมตาไม่ขึ้นเลย
สาเหตุที่ ตากระตุก
การที่ตากระตุกหรือตาเขม่นขึ้นมาเฉย ๆ นั้นมีต้นเหตุมาจากหลาย ๆ ประการ จะมีอะไรบ้างนั้นคุณผู้อ่านสามารถดูรายการได้ดังต่อไปนี้เลย
-นอนหลับไม่เพียงพอ พักผ่อนน้อย
-เกิดจากมีความเครียดสะสม
-เหนื่อยล้าและอ่อนเพลีย
-ตาแห้ง ตาล้า ระคายเคืองที่ตา
-ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากจนเกินไป
-ดื่มแอลกอฮอล์บ่อยและหนัก
-สูบบุหรี่จัด
-อยู่ในที่ที่มีแสงสว่างจ้าเป็นประจำ
-โดนลมแรง หรือได้รับมลภาวะที่เป็นพิษ
-ขาดวิตามิน แร่ธาตุ และสารอาหารบางชนิด
-ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด
ตากระตุกบ่งบอกถึงโรคอะไรได้บ้าง
หากอาการตากระตุกบ่อย ๆ เป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงโรคแล้วละก็ จะต้องมีโรคที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกายของเราได้ด้วยอย่างแน่นอน แล้วจะมีอาการของโรคอะไรมาเกี่ยวข้องบ้างนั้น มาเลื่อนอ่านกันเลย
-โรคอัมพาตใบหน้า (Bell’s Palsy)
-โรคกล้ามเนื้อบิดเกร็ง (Dystonia)
-โรคคอบิดเกร็ง (Cervical dystonia)
-โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis)
-โรคกล้ามเนื้อช่องปากหรือขากรรไกรบิดเกร็ง (Oromandibular Dystonia)
-โรคกล้ามเนื้อใบหน้าบิดเกร็ง (Facial Dystonia)
-โรคทูเร็ตต์ (Tourette’s Disorder)
ซึ่งโรคทั้งหมดนี้เป็นโรคที่มีความเกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อของร่างกาย หากใครที่กำลังมีอาการตากระตุกบ่อย ๆ ก็อาจจะต้องหมั่นดูแลไปจนถึงกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกายด้วย เพื่อจะได้ไม่มีโรคที่ร้ายแรงตามมา
การดูแลตัวเองอย่างง่ายไม่ให้ตากระตุก
สำหรับบางคนอาจจะรู้สึกรำคาญเล็กน้อยเมื่อตากระตุก จึงอยากหายจากอาการที่เป็นอยู่หรือต้องการให้ตากระตุกน้อยที่สุด ซึ่งวิธีดูแลตัวเองเบื้องต้นแบบง่าย ๆ ก็คือการเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้ตากระตุกได้นั่นเอง
-นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ โดย 1 วันต้องนอนครบ 8 ชั่วโมง
-หาวิธีลดความเครียดลง พยายามจัดการกับอารมณ์ตัวเองให้ได้
-ไม่หักโหมทำกิจกรรมต่าง ๆ หรือทำงานหนักจนเกินไป
-งดการจ้องมือถือหรือคอมพิวเตอร์นาน ๆ และอาจใช้ยาหยอดตาหรือน้ำตาเทียมเพื่อทำให้ตาไม่แห้งจนเกินไป
-ลดการดื่มกาแฟลงจากเดิม หรือพยายามดื่มเครื่องดื่มที่มีคาแฟอีนให้น้อยลง
-ดื่มแอลกอฮอล์ให้น้อยลง หรือไม่ดื่มเลยก็จะดีต่อสุขภาพในหลาย ๆ เรื่องอีกระยะยาว
-ไม่สูบบุหรี่ เพราะหากยังสูบบุหรี่อยู่ตาก็จะยังกระตุกอยู่เรื่อย ๆ
-เมื่ออยู่ในที่ที่มีแสงสว่างจ้าควรจะสวมแว่นตากันแดด หรือหากสามารถหรี่แสงสว่างลงได้ก็ควรปรับระดับของแสงห้ลดลง
-หากต้องอยู่ในที่ที่มีลมแรง ๆ ก็ควรจะใส่แว่นตากันลมไว้เสมอ
-เมื่อต้องเผชิญกับมลภาวะที่เป็นพิษเป็นประจำก็ควรจะสวมใส่เครื่องป้องกันผิวเป็นอย่างดี
-รับประทานอาหารหรืออาหารเสริมที่มีวิตามิน แร่ธาตุเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ซึ่งโดยส่วนใหญ่มาจากผักและผลไม้
-ตรวจสอบยาบางชนิดที่กินอยู่ว่ามีส่วนทำให้ตากระตุกได้หรือไม่ หากใช่อาจจะต้องปรึกษาคุณหมอว่าสามารถลดปริมาณลงได้หรือไม่ หรือมีตัวยาชนิดอื่นกินแทนกันได้ไหม แต่ถ้าหากจำเป็นต้องกินยาเพื่อรักษาโรคบางอย่างที่มีอาการรุนแรงกว่าตากระตุกก็ควรจะเลือกรักษาโรคร้ายแรงให้หายดีก่อน
อาการตากระตุกแบบไหนที่ควรพบแพทย์
หลาย ๆ คนรู้สึกว่าการที่ตากระตุกนั้นเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่นานก็หายไป แต่รู้ไหมว่ามีอาการตากระตุกที่เป็นสัญญาณเตือนถึงอันตรายอยู่ด้วย ซึ่งจะเป็นอาการแบบไหนนั้น มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
-ตากระตุกติดต่อกันนานกว่า 2 อาทิตย์
-มีอาการบวมแดง หรือมีของเหลวออกมาเมื่อตากระตุก
-ตำแหน่งที่ตากระตุกเพิ่มขึ้นจากเดิม เช่น ปกติกระตุกข้างขวาอย่างเดียว แต่เมื่อตาขวากระตุกตาซ้ายหรือบริเวณอื่น ๆ กลับกระตุกพร้อม ๆ กัน
-เมื่อตากระตุกแล้วเปลือกตากลับปิดลงทันที หรือมีอาการเปลือกตาตก
-บริเวณที่ตากระตุกอ่อนแรงหรือหดเกร็ง
หากใครเริ่มมีอาการที่มีลักษณะตรงตามที่กล่าวมาข้างต้นแม้แต่ข้อเดียวก็ควรจะรีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยโดยเร็วที่สุด
การรักษาอาการตากระตุก
สำหรับคนที่มีอาการตากระตุกอย่างหนัก แม้จะดูแลตัวเองด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ แล้วก็ยังไม่ได้ผล เมื่อพบแพทย์แพทย์อาจจะให้รับการรักษาดังนี้
-การให้ยารับประทาน เช่น ยาลอราซีแพม (Lorazepam) ยาไตรเฮกซีเฟนิดิล (Trihexyphenidyl) และยาโคลนาซีแพม (Clonazepam) แต่ยาเหล่านี้ยังมีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ จึงต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดเท่านั้น
-การฉีด Botulinum Toxin หรือ Botox วิธีรักษาแบบนี้ต้องผ่านการรับรองให้ใช้รักษาอาการกล้ามเนื้อหดเกร็งที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมและแนะนำมากที่สุดที่ใช้ในการรักษาอาการตากระตุก เพราะแพทย์จะฉีดยาโบท็อกซ์ลงบริเวณกล้ามเนื้อรอบดวงตาที่มีอาการกระตุก เพื่อให้กล้ามเนื้อเหล่านั้นอยู่ในสภาพอ่อนแรงชั่วคราว ซึ่งผลของตัวยาจะมีฤทธิ์อยู่ได้เพียง 3 – 6 เดือนเท่านั้น
คำโบราณที่ว่าตาเขม่นข้างซ้ายจะได้ดี เขม่นข้างขวาจะได้เจอเรื่องแย่ ๆ ก็อาจจะไม่เกินจริงก็ได้ เพราะการที่ตากระตุกบ่อย ๆ ก็นำพาไปสู่โรคที่เกี่ยวกับกล้ามเนื้อได้ ดังนั้นไม่ว่าคุณผู้ชายหรือคุณผู้หญิงจะพบกับอาการผิดปกติใด ๆ ในร่างกายก็ไม่ควรชะล่าใจ ต้องรีบเข้าพบกับแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญที่สามารถให้คำแนะนำได้โดยไว