กรดไหลย้อน เป็นโรคใกล้ตัวที่ไม่ว่าใครก็สามารถเป็นได้ และเป็นปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม เพราะอาจทำให้เกิดอาการที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ที่เป็นกรดไหลย้อน หรือก่อให้เกิดพยาธิสภาพของหลอดอาหารขึ้นได้
กรดไหลย้อนคืออะไร
กรดไหลย้อนเป็นโรคที่เกิดจากการไหลย้อนของสารคัดหลั่งในกระเพาะอาหาร โดยที่กรดหรือแก๊สไหลย้อนกลับไปที่หลอดอาหาร เป็นภาวะที่มีการขย้อนหรือไหลย้อนของน้ำย่อยในกระเพาะอาหารขึ้นมาในหลอดอาหาร จนทำให้มีอาการเรอเปรี้ยว มีรสขมในปาก ปวดแสบปวดร้อนในช่องท้องส่วนบน หรือปวดบริเวณหน้าอก ซึ่งอาการทั้งหมดล้วนรบกวนชีวิตและการทำงาน
โดยปกติแล้วร่างกายคนเราจะมีการไหลย้อนของกรดในกระเพาะอาหารขึ้นไปในหลอดอาหารอยู่บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังรับประทานอาหารบางคนจะมีอาการนี้อยู่แล้ว แต่ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีปริมาณกรดที่ย้อนมากขึ้นหรือย้อนบ่อยกว่าผู้ที่ไม่ได้เป็นโรค และหลอดอาหารจะมีความไวต่อกรดมากขึ้นแม้ว่าจะมีปริมาณกรดที่ย้อนขึ้นไปไม่มากกว่าปกติ
อาการของกรดไหลย้อน
หลาย ๆ คนคงจะเคยได้ยินมาบ้างว่ารับประทานอาหารเสร็จแล้วอย่าเพิ่งนอนในทันทีเพราะจะทำให้เป็นกรดไหลย้อน ซึ่งความรู้สึกของอาการนี้ก็คือการแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ตรงกลางหน้าอก เปรี้ยวหรือขมในปาก มีอาหารย้อนขึ้นมาในปากและคอ จุกเสียดและแน่นท้องบริเวณลิ้นปี่ สำหรับผู้ป่วยบางรายที่มีอาการกรดไหลย้อนขั้นรุนแรงมักจะมีการขย้อนน้ำและอาหารขึ้นมาแบบหนัก ๆ จนอาจทำให้เกิดการสำลักเข้าไปในปอดและเกิดอาการปอดอักเสบได้ นอกจากนี้บางรายอาจจะมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ท้องอืด แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียนหลังรับประทานอาหาร เจ็บหน้าอก จุกคล้ายมีอะไรติดหรือขวางอยู่บริเวณคอ ต้องพยายามกระแอมออกบ่อย ๆ อาการหืดหอบ ไอแห้ง ๆ เสียงแหบ เจ็บคอ อาการทั้งหมดนี้เกิดจากกรดที่ไหลย้อนขึ้นมาบริเวณกล่องเสียงทำให้กล่องเสียงอักเสบเรื้อรัง
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็น กรดไหลย้อน
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงในการเป็นโรคกรดไหลย้อนมีมากมาย ดังต่อไปนี้
1.อายุที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายลดประสิทธิภาพลง จึงอาจทำให้มีความผิดปกติของหูรูดส่วนปลายหลอดอาหาร หรือมีการบีบตัวของกระเพาะอาหาร ทำให้มีโอกาสเป็นกรดไหลย้อนได้ง่าย
2.ภาวะอ้วนส่งผลทำให้มีการเพิ่มแรงกดต่อกระเพาะอาหาร และทำให้มีกรดไหลย้อนกลับไปที่เดิม
3.พฤติกรรมที่ไม่ดี เช่น สูบบุหรี่ ทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ดื่มชา กาแฟ โดยเฉพาะการนอนราบภายหลังการรับประทานอาหารแบบทันทีนั้นมีโอกาสเกิดกรดไหลย้อนได้ง่าย
4.การตั้งครรภ์มีส่วนทำให้เสี่ยงเป็นกรดไหลย้อนได้ เนื่องจากระดับฮอร์โมนของคุณแม่ตั้งครรภ์มีการเปลี่ยนแปลงซึ่งส่งผลต่อการเกิดโรคกรดไหลย้อน
เปลี่ยนพฤติกรรมแก้ กรดไหลย้อน
สำหรับใครที่เป็นกรดไหลย้อนอยู่บ่อย ๆ และพอจะทราบปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีอาการแล้วก็ควรจะหันกลับมาเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเสียใหม่ เริ่มต้นด้วยการปรับเปลี่ยนการทานอาหารให้เป็นเวลา ระวังน้ำหนักตัวไม่ให้มากหรืออ้วนจนเกินไป หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อเย็นในปริมาณมาก และไม่ควรนอนทันทีหลังรับประทานอาหารอย่างน้อย 2 – 3 ชั่วโมง หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม น้ำผลไม้ หรืออาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด เผ็ดจัด อาหารไขมันสูง หรือแม้แต่ช็อกโกแลต เพราะจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดอาการกรดไหลย้อนมากขึ้น นอกจากนี้ยังต้องหลีกเลี่ยงความเครียด การดื่มสุราและการสูบบุหรี่ด้วย แต่หากเป็นหนัก ๆ อาจจะต้องนอนปรับหัวหรือหนุนหัวให้สูงในกรณีที่มีอาการตอนกลางคืน และที่สำคัญคือต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ทำอย่างไรเมื่ออาการกรดไหลย้อนไม่ดีขึ้น
หากใครที่เป็นกรดไหลย้อนไม่หายสักที หรือเป็นแล้วก็กลับมาเป็นอีกอยู่เสมอ วิธีเดียวที่จะช่วยได้ก็คือการใช้ยา ซึ่งปัจจุบันนี้มียาหลายชนิดที่สามารถรักษาโรคกรดไหลย้อนได้ แต่ก็ต้องใช้ระยะเวลาในการรักษายาวนานกว่าจะหาย ซึ่งก็ได้แก่ ยาเคลือบและรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ยากลุ่มนี้จะช่วยลดความเป็นกรดในกระเพาะอาหารและใช้ได้ผลดีในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง หรือมีอาการแสบหน้าอกเป็นครั้งคราว อีกกลุ่มคือยาลดการหลั่งกรด ยาในกลุ่มนี้ต้องมีการปรับเปลี่ยนขนาดของยาและระยะเวลาในการรักษาอย่างใกล้ชิด จึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ส่วนยาเพิ่มการบีบตัวของหลอดอาหารและกระเพาะอาหารนั้นอาจได้ผลในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการท้องอืดแน่นท้องร่วมด้วย
หากไม่อยากให้โรคกรดไหลย้อน ย้อนกลับมาทำร้ายชีวิตเราก็ต้องดูแลและป้องกันตัวเองในทุก ๆ วิธีเพื่อลดอัตราการเสี่ยงเป็นกรดไหลย้อนในทุก ๆ รูปแบบ แล้วการใช้ชีวิตประจำวันจะได้มีความสุข ไร้ปัญหาเล็ก ๆ มากวนใจ
อ่านบทความ ท้องเสียกินอะไรดี มีอาหารอะไรที่ควรกินตอนท้องร่วง ท้องเสียบ้าง